กระทรวงการต่างประเทศ 10 ธ.ค. – นายกฯ เตรียมร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พร้อมลงนามความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปกับไทย
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ จะเข้าร่วมในวันที่ 12-15 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้กับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะความท้าทายด้านความมั่นคง การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และ การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green transition) และดิจิทัล
นาย อสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ถือการประชุมที่สำคัญและเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในโอกาสที่ผู้นำอาเซียนทั้งหมดจะได้พบหารือกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ และเป็นโอกาสพิเศษในการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีการหารือในหลายประเด็น ทั้งความร่วมมือ ด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และประเด็น การเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาลไทย
นอกจากการเข้าร่วมการประชุมแล้ว นายกรัฐมนตรี จะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) ซึ่งมีการเจรจากันมายาวนาน และได้หยุดชะงักไปก่อนหน้านี้ และหลังจากได้เจรจารอบใหม่ ปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยมากขึ้น ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน จนสามารถบรรลุการเจรจาได้
อธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า ร่างกรอบความตกลงฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับไทย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรป รับรองว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีสถานะเท่าเทียมกัน และมีค่านิยมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การค้าการลงทุน เกษตกรรม รวมทั้งในด้านอื่นๆ
“ถือเป็นการวางรากฐานในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายต่อไป และจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปด้วย อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมมาตรฐานด้านต่างๆ ของไทย ซึ่งการยอมรับที่จะมีข้อตกลงกับไทยนั้น แสดงว่าสหภาพยุโรปยอมรับมาตรฐานของไทยแล้ว ซึ่งไทยเองจะต้องมีการปรับตัวและปรับมาตรฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกับของสหภาพยุโรปด้วย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายในภาพรวม” นาย อสิ กล่าว
นายอสิ กล่าวว่า หลังจากการลงนามในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเตรียมพร้อมและมีแผนปรับตัว ในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.-สำนักข่าวไทย