ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 19 พ.ย.-นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีผู้นำเขตเศรษฐกิจออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กระชับความสัมพันธ์การค้า การลงทุน พร้อมหารือกก.ไอเอ็มเอฟ เกี่ยวกับการฟื้นเศรษฐกิจไทย หลังโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-ออสเตรเลียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากได้หารือทางโทรศัพท์ร่วมกันครั้งหนึ่งในช่วง โควิด-19 หวังให้นำภาคเอกชนเข้ามาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉเพาะในเขตอีอีซี โดยไทยพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับออสเตรเลีย ให้มีบทบาทในภูมิภาค
จากนั้น นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับน.ส.จาชินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ทั้งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน หวังการเพิ่มมูลค้าทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งดึงนักลงทุนจากนิวซีแลนด์ เข้ามาร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ เช่น การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทย และแผนเศรษฐกิจ 30 ปีของนิวซีแลนด์ จึงต้องการสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตรและปศุสัตว์ รองรับการผลิตน้ำนมดิบอย่างยั่งยืนของเกษตรกรโคนมไทย เพื่อพัฒนาโคนมระหว่างกัน ตลอดจนความร่วมมือด้านนวัตกรรมอาหาร
นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับนางคริสตาลินา กอร์เกียวา (Ms. Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการกองทุนเงินระหว่างประเทศ โดย IMF ซึ่งมีความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2565 ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาโควิด-19 ที่ยังกลับมาแพร่ระบาด ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานแพง พร้อมชื่นชมการบริหารจัดการนโยบายการคลัง บริหารจัดการหนี้สาธารณะ โดยเงินกู้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมด ในรูปของสกุลเงินบาทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
นาง Georgieva สนับสนุนการใช้กลไกลดก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ไทยได้ใช้กลไกทางการเงินการคลังเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน โครงการธนาคารต้นไม้ ของธ.ก.ส. สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงโครงการสินเชื่อสีเขียว ผ่านมาตรการการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จากนั้นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (Retreat ช่วงที่ 2) ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Trade and Investment การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” นำเสนอแนวคิด เศรษฐกิจ BCG ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้า การค้า-การลงทุน ของกลุ่มเอเปค เพื่อเตรียมการแถลงการณ์ร่วม ในการประกาศเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG.-สำนักข่าวไทย