รัฐสภา 8 พ.ย.- วุฒิสภาเสียงเอกฉันท์ ผ่านร่างพ.ร.บ.กบข. ให้สิทธิสมาชิก 5 ปีขึ้นไปถอนเงินสะสม 30% ซื้อบ้านได้ ด้าน “พรเพชร” บอก ส.ว.เตรียมอธิบาย ส.ส. ในชั้น กมธ.ร่วม
การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งกรรมธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยเสียงเอกฉันท์ 193 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเนื้อหาที่สภาฯ เห็นชอบ จำนวน 1 มาตรา ด้วยการตัดมาตรา 5 ซึ่งเพิ่มมาตรา 43/1 ของร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ซึ่งให้สิทธิสมาชิกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนไม่เกิน 30% ของเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนที่บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคลเพื่อใช้จ่ายโดยวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ในการจัดหาที่อยู่อาศัยของตนได้ ทั้งนี้ตามหลักเกรฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ ในรายงานของกรรมาธิการฯ ระบุถึงเหตุผลการตัดมาตราดังกล่าว เพราะกังวลถึงสภาพคล่องของกองทุน เนื่องจากตามพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญฯ (กบข.) กำหนดให้สมาชิกส่งเงินสะสม ขั้นต่ำ 3% ของเงินเดือนและรัฐส่งเงินสมทบอีก 3% ของเงินเดือนดและเงินชดเชยอีก 2% ของเงินเดือนเพื่อให้กบข. บริหารให้เกิดดอกผล สะสมไว้ในบัญชีรายบุคคล โดยมีวัตถุประงค์เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอเมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ การออมดังกล่าวจึงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
อีกทั้งกบข.ไมมีวัตถุประสงค์และภารกิจโดยตรงในการจัดสรรเงินเพื่อหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก โดยเหตุผลที่ต้องตัดมาตรา 5 เพื่อลดปริมาณเงินออมและสูญเสียโอกาสบริหารเงินออม กบข.มีสมาชิก 1.1ล้านคน มีเงินกองทุนส่วนสมาชิก 464 ล้านบาท มีผลตอบแทนลงทุนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 40 – 65 อยู่ที่ 5.9% หากนำเงินกบข.ออกมาก่อน 30% เพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มทำให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนลดลง
ขณะที่การอภิปรายของส.ว.โดยพล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ให้ข้อสังเกตว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ของวุฒิสภา ต้องนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม ซึ่งการพิจารณาที่ผ่านมามักถูกส.ส.เหน็บแนม อภิปรายกล่าวหาโจมตีส.ว.ว่าดูร่างกฎหมายไม่เป็น ไม่ละเอียด ไม่เห็นหัวประชาชน ส่วนมาตราดังกล่าวที่ถูกเพิ่มเติมมาในชั้นสภาฯ ซึ่งได้รับเสียงเอกฉันท์ ทำให้ส.ส.ภูมิใจมาก ส.ว.ควรใส่เหตุผลที่อธิบายได้ทุกแง่มุม สมาชิกเป็นหมื่นขอกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน กองทุนอาจพร่องสภาพคล่องของกองทุน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเขียนรายละเอียดไว้ให้ชัดเจน
ด้านนายพรเพชร กล่าวว่า เคยเป็นสมาชิกกองทุนกบข. และเป็นกรรมการ ทราบว่ากองทุนนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะเงินในกองทุนไม่ใช่เงินสมาชิกเท่านั้น เพราะมีเงินของรัฐบาลสมทบ การนำเงินเข้าและออกมักจะมีปัญหา เข้าใจว่า การแปรญัตติของสมาชิกต้องการให้เป็นแบบนั้น สมาชิกกบข.อยากได้เงินมาก่อนเหมือนฝากเงิน แต่ กบข. ต้องการให้เงินเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่หากเกษียณอายุแบบไม่สวยจะไม่ได้เงินสมทบ ขอให้กรรมาธิการร่วมพิจารณารายละเอียด.-สำนักข่าวไทย