รัฐสภา 1 พ.ย. – วุฒิสภา มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้วไว้พิจารณา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันการกำหนดให้มีการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพื่อสร้างวินัยความรับผิดชอบและจิตสำนึกแก่ผู้กู้ยืม รวมถึงสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (1 พ.ย.65)มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว ที่มีการปรับแก้สาระสำคัญจากวาระรับหลักการที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เช่น ไม่ให้มีการคิดดอกเบี้ยและไม่มีเบี้ยปรับ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา มีการกำหนดกลไกการชำระเงินคืนที่ยืดหยุ่นเพื่อทำให้การผิดนัดชำระหนี้ลดน้อยลง ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้ทำงานเชิงรุก โดยให้ข้อมูลแก่นักเรียนนักศึกษาก่อนเลือกสาขาวิชาที่จะกู้ยืมให้สอดคล้องกับอาชีพแห่งอนาคต บริหารจัดการเงินกู้ยืมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งในส่วนของการยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น รัฐบาล เห็นว่าอาจทำให้นักเรียน นักศึกษาขาดวินัยและขาดจิตสำนึกในการชำระเงินกู้ยืมคืนเพื่อส่งต่อให้กับนักเรียนนักศึกษาในรุ่นต่อ ๆ ไป อีกทั้งการยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เนื่องจากต้องขาดรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และ กยศ. อาจต้องกลับไปพึ่งพางบประมาณแผ่นดินอีกครั้ง จึงหวังว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยให้ กยศ. สามารถกำหนดให้มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับได้ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างวินัยการเงินและความเป็นธรรมแก้ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระหนี้ตามสัญญาที่ทำไว้ ตลอดจนเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ สมาชิกต่างสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายนี้ และเห็นว่าการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจำเป็นต้องมีการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพื่อสร้างวินัยความรับผิดชอบและจิตสำนึกแก่ผู้กู้ยืม พร้อมกับเสนอแนะให้คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่สูงจนเกินไป รวมถึงรัฐบาลควรมีแผนรองรับโดยให้ผู้จบการศึกษามีงานทำเพื่อให้มีรายได้สามารถส่งเงินคืนได้ ทั้งนี้หลังอภิปรายที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฏีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ.2565 และพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล เป็นส.ว. แทน พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ ส.ว.ที่ถึงอนิจกรรม และพระบรมราชโองการ แต่งตั้งส.ว.โดยตำแหน่ง แทนที่ว่าง คือ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากนั้นส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งใหม่ได้กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้มีส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 249 คน.- สำนักข่าวไทย