กกต. 14 ก.พ.- ที่ประชุม กกต.วันนี้ไม่ได้มีการพิจารณา คำร้องขับ 21 ส.ส.พลังประชารัฐ จับตาประชุมอีกครั้งวันพรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้ไม่ได้มีการพิจารณา คำร้องกรณีนายสมัย รามัญอุดม พร้อมพวกที่อ้างเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ว่ามติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมพวกรวม 21 คนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำร้องที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ขอให้ กกต.ตรวจสอบมติพรรคพลังประชารัฐ กรณีขับ 21 ส.ส.ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่าจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมวันนี้ โดย กกต.มีวาระประชุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ ต้องจับตาดูว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ เพื่อให้ทันวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะครบกรอบเวลา 30 วันที่ กลุ่ม 21 ส.ส.ต้องหาพรรคใหม่สังกัด หลังจากถูกขับพ้นพรรค
ทั้งนี้มีรายงานว่า คำร้องของนายศรีสุวรรณ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความถูกต้องของมติพรรคการเมือง ผู้มีอำนาจวินิจฉัยโดยตรง คือ เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ส่วนกรณีคำร้องของนายสมัยนั้น จะเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะทำหน้าที่พิจารณา ซึ่งก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นต่อเรื่องนี้เสนอ กกต. ว่า กกต.ไม่ควรรับคำร้องนายสมัย เนื่องจากการตรวจสอบรายชื่อการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่นายสมัย และพวกทั้ง 155 คน ยื่นกับระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ทางพรรคเป็นผู้คีย์เข้าระบบ พบว่ามีชื่อเป็นสมาชิกเพียง 99 ราย คำร้องดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องตาม มาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่กำหนด ว่าในกรณีสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส.คนหนึ่งคนใด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนี้ หรือกฎหมายอื่น ให้มีสิทธิร้องต่อ กกต.เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และกกต.ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 รับทราบการดำเนินการของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 แล้วว่าเป็นไปตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร
ส่วนคำร้องที่นายสมัยมายื่นในวันนี้ (14 ก.พ.) ขอให้ชะลอการพิจารณาและให้ตรวจสอบรายชื่อสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 155 คน ที่ยื่นว่ามติขับ 21 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่ชอบใหม่นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการรับเรื่องและตรวจสอบคำร้องเบื้องต้นของทางสำนักงาน ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน จึงไม่น่าจะเข้าพิจารณาในคราวเดียวกัน แต่อาจจะมีการรายงานให้ กกต.ทราบ
แหล่งข่าวจาก กกต. เผยว่าเรื่องนี้ กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ชัดเจนว่า กกต. จะต้องตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค หรือแจ้งรับทราบมติการขับสมาชิกพรรค ภายในกี่วัน ตามกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบัน เมื่อพรรคมีมติก็จะถือว่ามีผลในทางกฎหมายทันที แตกต่างกับกฎหมายพรรคการเมืองในอดีตที่แม้พรรคการเมืองมีมติ แต่ต้องรอการตอบรับจากนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงจะมีผลทางกฎหมาย ดังนั้นจึงเห็นว่าในกรณีนี้ เมื่อพรรคมีมติขับ 21 ส.ส. ผลทางกฎหมายเกิดขึ้นทันที โดย 21 ส.ส. ต้องหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดภายใน 30 วัน ซึ่งหากต่อมานายทะเบียนพรรคการเมือง หรือกกต. เห็นว่ามติขับไม่ถูกต้องและสั่งเพิกถอน ก็เท่ากับว่า 21 ส.ส.ยังคงเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเช่นเดิม
ทั้งนี้ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 21 คนที่ถูกขับในจำนวนนี้ 18 คน สมัครเป็นสมาชิกและทำหน้าที่เป็น ส.ส. ในนามพรรคเศรษฐกิจไทยแล้ว ส่วนอีก 3 คน คือ นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา และนายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากมติของ กกต. จึงยังไม่ได้ไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด .-สำนักข่าวไทย