ปภ. 16 พ.ค.-ปภ. จับมือ 8 หน่วยงาน ลงนาม MOU ร่วมสนับสนุนข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (War Room) แจ้งเตือนภัยของชาติด้วยชุดข้อมูลเดียวแบบ One Message
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประสาน แลกเปลี่ยน และสนับสนุนข้อมูลเพื่อการแจ้งเตือนภัยและการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (War Room) ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติ โดยเฉพาะการบูรณาการข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ เป็นชุดข้อมูลเดียวกันแบบ One Message ซึ่งนำไปสู่การลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทราบอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประสาน แลกเปลี่ยน และสนับสนุนข้อมูลเพื่อการแจ้งเตือนภัย โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัยที่ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ อาทิ ด้านภูมิอากาศ สภาพน้ำท่า ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลภูมิศาสตร์ คุณภาพอากาศ ระบบข้อมูลสารสนเทศผ่านดาวเทียม รวมถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (War Room) ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติ ขึ้น ร่วมกับ 8 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการประสาน แลกเปลี่ยน สนับสนุน และปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ในการบูรณาการข้อมูล บูรณาการผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าระวังสาธารณภัยของประเทศ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูล และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว เป็นชุดข้อมูลเดียวกันแบบ One Message ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชน เพื่อเสริมให้การแจ้งเตือนภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ที่ ปภ. ได้ทำการทดสอบแต่ละระดับ ทั้งระดับเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ได้ดำเนินการทดสอบเป็นที่เรีนบร้อยแล้ว และขอยืนยันว่า Cell Broadcast ได้สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ คือ สามารถลดความสูญเสียชีวิต และความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีแนวทางสำคัญที่ทั้ง 9 หน่วยงานต้องปฏิบัติร่วมกัน 3 ส่วน ได้แก่ 1) กรณีสถานการณ์ปกติ เจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรวบรวม ใช้ข้อมูล และใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเสี่ยงจะเกิดสาธารณภัย จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าระวังสาธารณภัยของประเทศ โดยมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเครือข่าย 2) กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มจะเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย มีความจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วในการแจ้งเตือนภัย หรือจำเป็นต้องสนับสนุนข้อมูลการคาดการณ์สาธารณภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการปฏิบัติงานร่วมกันในรูปแบบของห้องปฏิบัติการ (War Room) เพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานร่วมปฏิบัติหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย คาดการณ์การเกิดสาธารณภัย ระยะเวลาที่คาดว่าจะเกิด สาธารณภัย แนวโน้มสถานการณ์ภัย ความรุนแรง รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนของประชาชน และ 3) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะนำชุดข้อมูลที่ได้พิจารณาแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ตามช่องทางต่าง ๆ ที่มีไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน รวมถึงเสนอต่อหน่วยบัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับ ใช้เป็นข้อมูลบัญชาการเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการบูรณาการข้อมูลด้านการคาดการณ์สาธารณภัย เพื่อการยกระดับมาตรฐานการแจ้งเตือนภัยสู่สาธารณะที่มีความถูกต้อง แม่นยำ สามารถระบุพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตรงจุด ตลอดจนประชาชนสามารถรับการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันเวลา และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ทันเวลา ซึ่งนำไปสู่การลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ได้มากที่สุด.-315 -สำนักข่าวไทย