29 เมษายน 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

หนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่เคยได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสจะพุ่งชนโลกมากที่สุดได้แก่ Apophis ดาวเคราะห์น้อยที่นักดาราศาสตร์เคยเชื่อว่าจะพุ่งชนโลกในปี 2029 ทำสถิติเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกตามมาตรวัดความเสี่ยงของ Torino scale สูงที่สุดในระดับที่ 4
Apophis ถูกค้นพบในปี 2004 ตั้งชื่อในภาษากรีกตามเทพเจ้าแห่งความชั่วร้ายและความตายของอียิปต์ (Apep)
Apophis เป็นดาวเคราะห์น้อยชนิด S-type (โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นซิลิกาหรือหิน) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 340 เมตร ความยาวสูงสุดประมาณ 450 เมตร มีรูปร่างคล้ายถั่วลิสง ความสูงเทียบเท่าตึกเอ็มไพร์สเตตในนิวยอร์ก
Apophis อยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อย Aten เดินทางด้วยความเร็ว 107,928 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 29.98 กิโลเมตรต่อวินาที
การค้นพบดาวเคราะห์น้อย Apophis นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความแปลกใจให้กับวงการดาราศาสตร์โลก เพราะโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เช่นนี้จะโคจรมาใกล้โลกมีเพียง 1 ครั้งในรอบ 800 ปี และโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เช่นนี้จะพุ่งชนโลกมีเพียง 1 ครั้งในรอบ 80,000 ปี

หากเกิดการพุ่งชนบนโลก พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจะเทียบเท่าแรงระเบิด TNT ปริมาณ 1,200 ล้านตัน หรือจำนวนระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงไปในเมืองฮิโรชิมะและเมืองนางาซากิรวมกันกว่าสามหมื่นลูก
เว็บไซต์ Space.com หากเกิดการพุ่งชนในเมืองใหญ่ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีหลายล้านคน
Apophis เคยมีความเสี่ยงชนโลกสูงสุด
Apophis เคยเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ทำสถิติมีความเสี่ยงพุ่งชนโลกสูงสุด หลังเคยได้รับการจัดอันดับตามมาตรวัดความเสี่ยง Torino scale สูงที่สุดในระดับ 4 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2004 หลังพบว่าดาวเคราะห์น้อย Apophis มีความเสี่ยงจะพุ่งชนโลกในวันที่ 13 เมษายน 2029
แต่ภายหลังมีการปรับความเสี่ยงลดลง หลังมีการยืนยันว่า ดาวเคราะห์น้อย Apophis จะแค่เดินทางเฉียดโลกในวันที่ 13 เมษายน 2029 เท่านั้น และไม่มีโอกาสชนโลกในวันดังกล่าวแต่อย่างใด
ปัจจัยเปลี่ยนวงโคจรจาก Yarkovsky Effect และ Gravitational Keyhole
Yarkovsky Effect คือแรงที่เกิดกับเทหวัตถุที่หมุนรอบตัวเอง เมื่อพื้นผิวได้รับพลังงานแสงจากดาวฤกษ์ทำให้เกิดการแผ่รังสี ส่งผลให้การเคลื่อนที่ของเทหวัตถุเปลี่ยนไป หากปรากฏการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของเทหวัตถุนั้น ๆ แต่จะเกิดกับเทหวัตถุขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 กิโลเมตรลงไปเท่านั้น
Gravitational Keyhole คือพื้นที่ในอวกาศที่แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์จะดึงดูดดาวเคราะห์น้อยที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้วงโคจรเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสการพุ่งชนดาวเคราะห์ในอนาคต
เคยมีความเชื่อว่า การพุ่งเฉียดโลกในปี 2029 ของดาวเคราะห์น้อย Apophis ทำให้ Apophis มีโอกาสหลุดเข้า Gravitational Keyhole ของโลก และพุ่งชนโลกในวันที่ 13 เมษายน 2036
หรือแบบจำลองที่เชื่อว่า Yarkovsky Effect จะทำให้ดาวเคราะห์น้อย Apophis หลุดเข้า Gravitational Keyhole ของโลกระหว่างการพุ่งเฉียดโลกในปี 2029 ส่งผลให้ Apophis โคจรมาใกล้โลกอีกครั้งในปี 2051 และจะหลุดเข้า Gravitational Keyhole อีกครั้งในปี 2051 ส่งผลให้ดาวเคราะห์น้อย Apophis พุ่งชนโลกในปี 2068
Apophis จะไม่ชนโลกในอีก 100 ปี
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบเบื้องต้นโดยเครือข่ายอวกาศห้วงลึก Goldstone Deep Space Communications Complex ในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2013 พบว่า โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย Apophis จะพุ่งชนโลกในปี 2036 มีเพียง 1 ในล้าน ส่วนโอกาสที่จะเกิด Yarkovsky Effect มีเพียง 2 ในล้าน ส่งผลให้โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย Apophis จะพุ่งชนโลกในปี 2068 แทบเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
การตรวจสอบด้วยสัญญาณเรดาร์ในปี 2021 ช่วยยืนยันวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย Apophis ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยห้องปฏิบัติ Jet Propulsion Laboratory หน่วยงานขององค์การ NASA จะยืนยันในเดือนมีนาคม 2021 ว่า โลกจะไม่ต้องกังวลต่อโอกาสที่จะถูกดาวเคราะห์น้อย Apophis พุ่งชนไปอีก 100 ปีข้างหน้า พร้อมปรับอันดับความเสี่ยงตามมาตรวัด Torino scale เหลือแค่ 0 ในปัจจุบัน
การพุ่งเฉียดโลกของดาว Apophis ในปี 2029
ในวันที่ 13 เมษายน 2029 ดาวเคราะห์น้อย Apophis จะโคจรมาใกล้โลกที่สุดในระยะทางเพียง 38,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งใกล้กว่าระยะทางจากโลกกับดวงจันทร์ถึง 10 เท่า หรืออยู่ใกล้โลกพอ ๆ กับดาวเทียมค้างฟ้าซึ่งอยู่ในความสูงระดับ 35,786 กิโลเมตรจากพื้นโลก
พื้นที่ที่มีโอกาสเห็นการเยือนโลกของดาวเคราะห์น้อย Apophis มากที่สุดได้แก่ซีกโลกตะวันออก ซึ่งคาดว่าความสว่างของดาวเคราะห์น้อย Apophis ระหว่างการเยือนโลกจะสว่างมากพอจนสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
การเปลี่ยนกลุ่มดาว Apophis จากการเยือนโลก
แม้จะมีการยืนยันว่า การโคจรใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อย Apophis ในวันที่ 13 เมษายน 2029 จะไม่ส่งผลต่อทุกชีวิตบนโลก แต่คาดว่าการมาเยือนโลกที่จะมีขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า จะส่งผลต่อการโคจรของดาวเคราะห์น้อย Apophis ในอนาคตอย่างมาก
สิ่งที่นักดาราศาสตร์เฝ้าสังเกตในระหว่างการมาเยือนของดาวเคราะห์น้อย Apophis คืออิทธิพลของแรงดึงดูดโลกที่จะมีต่อการเคลื่อนที่ของ Apophis ทั้งแรงดึง แรงหมุน และแรงบิดจากแรงดึงดูดโลกอาจส่งผลต่อการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อย Apophis
ปัจจุบัน Apophis อยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อย Aten ที่ใช้เวลาเดินทางรอบดวงอาทิตย์สั้นกว่าโลกที่ 0.9 ปีต่อรอบ แต่อิทธิพลของแรงดึงดูดของโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า จะทำให้วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อย Apophis เปลี่ยนไป ทำให้ Apophis เดินทางรอบดวงอาทิตย์นานขึ้นเป็น 1.2 ปี และเปลี่ยนสถานะของ Apophis จากกลุ่มดาวเคราะห์น้อย Aten กลายเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อย Apollo ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่เดินทางรอบดวงอาทิตย์นานกว่าโลกในที่สุด
ภารกิจสำรวจ Apophis
การเยือนโลกของดาวเคราะห์น้อย Apophis ถือเป็นโอกาสครั้งแรกในรอบสหัสวรรษที่วงการวิทยาศาสตร์จะได้เรียนรู้พฤติกรรมของดาวเคราะห์น้อยอย่างใกล้ชิด
องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ก่อตั้งภารกิจ Rapid Apophis Mission for Space Safety (RAMSES) เพื่อเตรียมส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย Apophis โดยจะเดินทางออกจากโลกช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2028 และจะเดินทางถึง Apophis ในเดือนกุมภาพันธ์ 2029 หรือก่อนการพุ่งเฉียดโลกเพียง 2 เดือน เพื่อศึกษาปฏิกิริยาที่ Apophis มีต่อแรงดึงดูดของโลก
ส่วนภารกิจ OSIRIS–Apophis Explorer (APEX) ขององค์การ NASA จะใช้ยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์น้อย Apophis ด้วยการโคจรรอบ Apophis จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2030 เพื่อศึกษาวงโคจรของ Apophis ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเยือนโลกมากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://science.nasa.gov/solar-system/asteroids/apophis-facts/
https://www.forbes.com/sites/jamiecartereurope/2025/04/13/god-of-chaos-asteroid-its-four-years-until-the-rarest-space-event-of-our-lives/
https://en.wikipedia.org/wiki/99942_Apophis
https://www.facebook.com/watch/?v=830827260974198
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter