ระยอง 25 เม.ย. – สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมโดรน เตรียมทดสอบการใช้โดรนขนส่ง พร้อมเร่งออกใบอนุญาตให้กับภาคเอกชนภายในปี 2568
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูระบบนิเวศนวัตกรรมโดรน (Ecosystems) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ UAV Regulatory Sandbox ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ทำการทดสอบ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโดรน ว่า CAAT ได้ร่วมมือและสนับสนุนวังจันทร์วัลเลย์ ด้านการอนุมัติ อนุญาตทำการบิน หรือการทดสอบต่าง ๆ เกี่ยวกับโดรนให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถนำผลการทดสอบ ทดลอง วิจัยและพัฒนาที่ได้มาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโดรน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป อีกทั้ง CAAT ยังได้ปรับปรุงและพัฒนากฏหมาย โดยปรับปรุงและแก้ไขข้อจำกัดการอนุญาตโดรน ที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขับเคลื่อนและใช้งานโดรนขนาดใหญ่อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศนำโดรนหรือระบบที่เกี่ยวข้องหลากหลายประเภทมาทดสอบที่ UAV Regulatory Sandbox วังจันทร์วัลเลย์เพิ่มมากขึ้น เช่น โดรนในทางวิศวกรรมเพื่อการสำรวจและการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดรนเกษตร โดรนกู้ภัย และโดรนรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ผลที่ได้จากการทดสอบโดรนในพื้นที่ Sandbox ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี เกิดรูปแบบการปฏิบัติการบินโดรนแบบใหม่ ๆ ผู้ประกอบการกล้าที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ และเป็นกรณีศึกษาหรือ แนวปฏิบัติที่ดีให้กับผู้ที่สนใจรายอื่น ๆ ด้วย
ปัจจุบัน CAAT ได้จับมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนแม่บท หรือ Drone Master Plan ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทยที่มีรายละเอียดทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย ความมั่นคง และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล ครบทุกมิติ และในปี 2568 นี้ CAAT เริ่มทำการรับรองศูนย์ฝึกอบรมและหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ที่จะช่วยผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมโดรนให้มีความรู้ด้านการบิน กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินโดรน และมีทักษะความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีโดรนอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ CAAT ยังมีแผนปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้ก้าวไปข้างหน้า ได้แก่
- การจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตโดรนประเภทความเสี่ยงปานกลาง (Specific Category) เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติการบินที่หลากหลายและเป็นระบบมากขึ้น
- การปรับปรุงรูปแบบของกฎระเบียบในรูปแบบ TCARs เพื่อรองรับการแบ่งประเภทของการปฏิบัติ การบินตามความเสี่ยง และมีรูปแบบของกฎระเบียบที่เป็นสากลมากขึ้น
- กฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องการการปฏิบัติการบิน เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับการทำการบินนอกระยะสายตา (Beyond Visual Line of Sight : BVLOS) การปรับปรุงและใช้งานห้วงอากาศ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อยืนยันตัวตนและแสดงตำแหน่งสำหรับโดรน เป็นต้น
- การปรับปรุง พ.ร.บ. การเดินอากาศฯ เพื่อให้กฎหมายแม่บท เหมาะสมกับการกำกับดูแลโดรน ในบริบทต่าง ๆ รวมถึงรองรับโดรนซึ่งกำลังถูกนำมาพัฒนาใช้ในการขนส่งมวลชนในอนาคตอันใกล้นี้
- การออกคู่มือและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ขออนุญาตและผู้บังคับมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นรูปแบบเดียวกัน
- การผลักดันให้เกิดการใช้ “โดรนขนส่ง” ในเขตเมือง ซึ่งขณะนี้ CAAT ได้หารือร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ศูนย์บริหารจัดการห้วงอากาศ (ประเทศไทย) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อวางแผนพื้นที่และวิธีการทดสอบการใช้โดรนขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร คู่ขนานไปกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มจัดทำร่าง พ.ร.บ. การใช้งานโดรน เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว โดยในอนาคต CAAT จะพิจารณาในการออกใบอนุญาตการใช้โดรนขนส่งนี้ให้กับภาคเอกชนที่มีความพร้อมต่อไป
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีการสาธิตโดรนขนส่ง จากบริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด ขนส่งยาและเวชภัณฑ์ โดยใช้โดรน Gryphon EX ในระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งบริษัท เอวิลอน ได้ปฏิบัติการขนส่งจริงในพื้นที่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม นำส่งยาจากโรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัยไปยังสถานีสุขภาพในชุมชน ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถใช้บริการห้องผู้ป่วยนอกเสมือน (Virtual OPD) ที่สถานีสุขภาพ และได้รับยาและเวชภัณฑ์ผ่านทางโดรน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ในชุมชน เป็นการลดการแออัดในโรงพยาบาล และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยในการเข้าถึงการบริการ โดรนขนส่งจึงเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้แก่ทุกภาคส่วนในหลาย ๆ ด้าน เช่น เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้ารวดเร็วขึ้น ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในด้านการใช้น้ำมันและค่าบำรุงรักษา ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน รวมถึงลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center : IOC วังจันทร์วัลเลย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สาธิตระบบการบริหารจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Traffic Management : UTM) พื้นฐานในการบริหารจัดการห้วงอากาศ และการอนุญาตให้ขึ้นบินของอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือโดรนในพื้นที่ห้วงอากาศควบคุม Controlled Airspace เพื่อให้การขออนุญาตการบินโดรนเป็นไปได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และถูกต้องการตามกฎระเบียบ
CAAT คาดการณ์ว่าอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะมีโดรนหลากหลายประเภทไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลำ การกำกับดูแลการใช้โดรนจึงต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยง ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ความเสี่ยงต่ำ กลุ่มใช้เพื่อความบันเทิงทั่วไป เช่น โดรนถ่ายภาพและวิดีโอทางอากาศ 2. ความเสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจ เช่น โดรนเกษตร โดรนสำรวจและตรวจสอบ และ 3. ความเสี่ยงสูง กลุ่มโดรนที่มีการขนส่งผู้โดยสาร หรือโดรนขนสินค้าขนาดใหญ่ ดังนั้นจะมีหน่วยงานอื่น ๆ ตามหน้าที่ความรับผิดชอบเข้ามากำกับดูแลด้วย จึงเป็นความท้าทายของ CAAT ในการพัฒนาระบบกำกับดูแล และกลไกต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้โดรนที่ทันสมัย การกำหนดมาตรฐานบุคลากรในอุตสาหกรรมโดรนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน การนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการกำกับดูแลเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานและร่วมมือทั้งในและต่างประเทศในการผนึกกำลัง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ CAAT จะเป็นผู้นำพัฒนาและขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมโดรนของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป. -517-สำนักข่าวไทย