กรุงเทพฯ 8 ก.ค. – อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุยังต้องเติมสาร DEHA5 และโฟมดับเพลิง เพื่อควบคุมอุณหภูมิของถัง “สไตรีน” จนกว่าจะแน่ใจว่าจะไม่ปะทุแล้ว ตลอดจนร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ประเมินความเข้มข้นของสารอันตราย เพื่อวางแนวทางจัดการ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NPC ยังคงเฝ้าระวังอุณหภูมิของถังเก็บ “สไตรีน” อย่างต่อเนื่อง หลังจากฉีดพ่นสาร DEHA5 เพื่อให้ “สไตรีน” เปลี่ยนสภาพ โดยหนืดและติดไฟยากขึ้น โดยอุณหภูมิของถังลดลงตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่เตรียมนำสาร DEHA5 และ F500 หรือโฟมดับเพลิงไปสำรองไว้

ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ยังร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เข้าประเมินความเข้มข้นของ “สไตรีน” และ “ฟอร์มาลดีไฮด์” ที่หลงเหลืออยู่ เพื่อจัดการ บำบัด และขนย้ายออกไปกำจัด ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัย

ล่าสุดได้ประชุมสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงาน จากผลการตรวจสอบพบว่า สถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยคุณภาพอากาศในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เหลือเพียงพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร รอบพื้นที่โรงงานที่ต้องตรวจสอบและเฝ้าระวังอยู่อีกสักระยะ รวมทั้งได้กำหนดแผนและแบ่งสายงานการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบน้ำที่ปนเปื้อนจากการดับเพลิงในพื้นที่โรงงาน การตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณที่เกิดเหตุและชุมชนโดยรอบในรัศมี 0.5, 1 และ 2 กิโลเมตร และเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินในชุมชน ทั้งนี้ ข้อมูลผลการวิเคราะห์ทั้งหมดจะนำมาประมวลผลเพื่อประเมินความเสี่ยงและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพิจารณาหาแนวทางในการจัดการเพื่อลดปัญหามลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต่อไป

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ ยังออกแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ สำหรับประชาชน หลังจากกลับเข้าบ้านเรือนแล้ว ซึ่งแนะนำให้เปิดประตูหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทตลอดเวลา ก่อนเข้าที่พักอาศัย หลีกเลี่ยงการบริโภคและสัมผัสน้ำฝน ตลอดจนน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างน้อย 1-2 วัน หากมีผื่นคัน หรือหายใจลำบาก ควรปรึกษาแพทย์ในทันที ห้ามเข้าพื้นที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด. – สำนักข่าวไทย