กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – การแสดงออกของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีนักเรียนจัดกิจกรรมแสดงออกทางความคิดภายในโรงเรียน และมีภาพของนักเรียนระดับมัธยม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ที่มีการจัดกิจกรรมซึ่งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไปดูว่า ผู้บริหารมีแนวคิดในการพูดคุยกับนักเรียนอย่างไร และมีมุมมองของนักวิชาการด้านนิติ-รัฐศาสตร์ ถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่
ภาพนักเรียนกลุ่ม SKN freeyouth หรือชื่อกลุ่มของนักเรียนที่ต้องการแสดงออกทางสิทธิและเสรีภาพของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี รวมตัวกันจัดกิจกรรมขึ้น เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการยืนชูกระดาษเปล่า และเขียนข้อความว่า “ขอ 3 คำให้กับประเทศไทย” พร้อมชูมือทำ 3 นิ้ว หลังครบเวลาที่กำหนด กลุ่มนักเรียนได้ยุติกิจกรรม ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ผู้บริหารโรงเรียนฯ ชี้ให้ดูตารางการจัดกิจกรรมที่นักเรียนจัดทำขึ้นเอง โดยนักเรียนที่เข้าร่วมต้องปฏิบัติตามกำหนดการตามที่ตกลง และยังบอกว่า ก่อนการจัดกิจกรรม นักเรียนชั้น ม.3 ที่เป็นผู้นำกลุ่มได้เข้ามาขออนุญาตก่อน และมีการพูดคุยกัน ถามถึงเหตุผล ซึ่งตนในฐานะผู้ใหญ่ก็พร้อมรับฟัง และมองว่า เป็นโอกาสที่ครูจะได้สอนนักเรียนในเรื่องประชาธิปไตย โดยยึดหลักต้องไม่ทำผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิผู้อื่น ตลอดการทำกิจกรรมมีอาจารย์คอยควบคุมและดูแลอยู่ห่างๆ
ในช่วงสัปดาห์นี้ยังมีการรวมตัวแสดงออกทางความคิดภายในโรงเรียนอีกหลายแห่ง นัยที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ กำลังบอกอะไรกับสังคมไทย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจประเด็นว่า สัญลักษณ์ชูสามนิ้วของคนรุ่นใหม่ มีที่มาจากอะไร แต่ที่น่าสนใจกว่า คือ การที่พวกเขาเห็นพ้องกันว่าจะใช้สัญลักษณ์นี้ สื่อถึงความหมายอย่างไร
การแสดงสัญลักษณ์ ทั้งการชูนิ้วมือ การผูกริบบิ้นขาว หรือการติดแฮชแท็กในสื่อสังคมออนไลน์ ที่คนรุ่นใหม่ใช้เป็นจุดร่วมกันในการแสดงออก สะท้อนถึงการมีความคิดเห็นที่ตรงกัน
นักวิชาการยังวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันเกิดการรวมกลุ่มแสดงสัญลักษณ์ หรือการมีบางสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมกัน เพื่อเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารทางโลกออนไลน์ ที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นก่อนมาก ทำให้เกิดความคิด ความเชื่อที่ทุกคนสามารถคิดวิเคราะห์ได้เอง และคนรุ่นใหม่ต่างรู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว. – สำนักข่าวไทย