กทม. 27 ก.ค. – ทนายความชื่อดังวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ในการเพิกถอนคำสั่งเดิม กลับมาสั่งฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” กรณีเมาขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตแล้วหนี แทบไม่มีทางเป็นไปได้ แนวทางเดียวที่จะพิสูจน์ความจริงได้คือ ครอบครัวผู้ตายต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเอง
กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา “บอส อยู่วิทยา” เมาขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจจราจร สน.ทองหล่อ เสียชีวิต แล้วหนี เมื่อปี 2555 ล่าสุดนายกรัฐมนตรีสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งตรวจสอบคดีนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นอัยการ ลั่นไม่ช่วยคนทำผิดกฎหมาย ส่วนอัยการสูงสุดก็ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวเช่นกัน
ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช มองว่าทั้งของคำสั่งนายกรัฐมนตรี และอัยการสูงสูง ทำเพียงการทำเพื่อลดกระแสความไม่พอใจจากสังคมที่รับไม่ได้กับคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถจะนำไปสู่การทบทวน ปรับแก้ หรือเพิกถอนกลับคำสั่งเดิมได้โดยเด็ดขาด
ทนายอนันต์ชัย บอกอีกว่า มีแนวทางเดียวที่จะพิสูจน์ความจริงในคดีนี้ได้ ผู้เสียหายที่แท้จริง คือครอบครัวของ ด.ต.วิเชียร ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นมาเอง ซึ่งตนพร้อมที่จะเป็นทนายว่าความให้ เพราะว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน แม้จะมีการชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว 3 ล้านบาท และบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญา ก็ไม่มีผล ครอบครัวผู้ตายไม่ควรยอม โดยเฉพาะประเด็นที่โยนให้ ด.ต.วิเชียร เป็นคนประมาท และต้องรับผิดเสียเอง
พร้อมย้ำครอบครัวผู้ตายสามารถฟ้องในข้อหาขับรถประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ ด.ต.วิเชียรถึงแก่ความตายได้ จากพยานหลักฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตอนแรกอัยการ “สั่งฟ้อง” แต่หลังพิจารณามา 8 ปี ก็กลับคำสั่งเดิมเป็น “สั่งไม่ฟ้อง” ด้วยเหตุผลหลักคือ ในตอนแรกเพราะผู้ตรวจสอบความเร็วให้การว่า “บอส” ขับรถด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. แต่ภายหลังมีการร้องขอความเป็นธรรม ผู้ตรวจสอบความเร็วคนเดียวกันนี้ได้ให้การใหม่ในปี 2557 ว่าได้คำนวณใหม่แล้ว ความเร็วรถลดลงเหลือเพียง 79 กม./ชม. และเมื่อปลายปี 2562 ก็มีการร้องขอให้สอบพยานเพิ่มอีก 2 ปาก อ้างอยู่ในที่เกิดเหตุ ยืนยันตรงกันว่า “บอส” ไม่ได้ขับรถเร็วเกิน 60 กม./ชม. อุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ตายเพียงฝ่ายเดียว ที่ขี่รถจักรยานยนต์ตัดหน้า “บอส” อย่างกระชั้นชิด
แม้ครอบครัวผู้ตายจะไม่ติดใจเอาความ แต่คำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายทั้งระบบ ทั้งประชาชนและต่างชาติต่างมองว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” นี่จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นความเดือดร้อนของสังคมโดยรวม. – สำนักข่าวไทย