ฉะเชิงเทรา 2 พ.ค. – “ตุลา” ลูกช้างป่าพลัดหลงที่กรมอุทยานฯ ดูแล ได้รับบริจาคนมแม่ช้างจากมูลนิธิพระคชบาล และวังช้างอยุธยา แล เพนียด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เนื่องจากยังตรวจพบเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างสุขภาพในระยะยาว
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยังคงพบเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในตัวของ “ตุลา” แต่สุขภาพโดยรวมของลูกช้างป่ายังเป็นปกติและร่าเริงดี ทีมสัตวแพทย์จะยังคงตรวจติดตามอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด กรมอุทยานฯ ได้รับมอบนมแม่ช้างบ้าน จากการรีดสดโดย สพ.ญ.ลาดทองแท้ มีพันธุ์ สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิพระคชบาล และวังช้างอยุธยา แล เพนียด เพื่อนำมาให้ลูกช้างป่าเพศผู้ “ตุลา” กินเพิ่มเติมจากการกินนมผงแบบชง โดยลูกช้างป่าตัวนี้ กรมอุทยานฯ ได้เลี้ยงดูแลและรักษา ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ในลูกช้างทั่วไปจะกินนมแม่เป็นอาหารหลักในช่วงขวบปีแรก เมื่อเริ่มกินอาหารอื่นเช่น หญ้า ผลไม้ อ้อย เป็นต้น จึงจะลดการกินนมลงจนกระทั่งหย่านมที่อายุประมาณ 2.5-3 ปี ช้างเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ น้ำหนักมาก จึงมีการพัฒนากระดูกให้มีความแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักตัวมหาศาล การให้ช้างได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยที่กำลังเจริญเติบโต จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพช้างในระยะยาวอย่างยิ่ง
สำหรับน้ำนมแม่ช้างนั้นมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและเสริมสร้างกระดูกให้มีความแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะไวรัสเฮอร์ปีส์ หรือ EEHV นมแม่ช้างยังช่วยทำให้ลูกช้างได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ดังนั้น ลูกช้างจึงต้องได้รับน้ำนมจากแม่ช้างอย่างเพียงพอ จะทำให้ลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย
สำหรับโรคจากเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสเป็นโรคที่เกิดกับช้างในวัยเด็ก เมื่อตรวจพบเชื้อในตัว “ตุลา” ได้ให้ยาต้านไวรัสและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะๆ ล่าสุดยังคงพบเชื้ออยู่ เองเป็นลูกช้างป่าพลัดหลง และยังมีการตรวจพบไวรัสเฮอร์ปีส์ โรคที่เกิดกับช้างในวัยเด็ก การได้รับน้ำนมจากแม่ช้างจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมูลนิธิพระคชบาล และวังช้างอยุธยา แล เพนียด จะได้อนุเคราะห์นมแม่ช้างให้ต่อไปอีก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย