กรุงเทพฯ 13 มี.ค.- อธิบดีกรมอุทยานฯ แจ้งป.ป.ช. เดินหน้าจัดทำระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียม E-Ticket ให้สมบูรณ์ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศใน 2 ปี เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตจากเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติ รองเลขาธิการป.ป.ช. ระบุ พอใจผลการดำเนินงานมาตรการป้องกันการทุจริตของกรมอุทยานฯ ทำให้เพียงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 จัดเก็บรายได้ได้ใกล้เคียงกับตลอดปีงบประมาณ 2565
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทั้งผู้บริหารกรม หารือกับนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะเกี่ยวกับการดำเนินงานมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ
สำหรับประเด็นที่ป.ป.ช. ขอรับทราบจากกรมอุทยานฯ คือความคืบหน้าและผลการดำเนินโครงการระบบการจัดเก็บเงินคำบริการและระบบการจองล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบออนไลน์ (E-Ticket) เพื่อลดการจำหน่ายบัตรและเก็บค่าบริการโดยเจ้าหน้าที่ (ระบบฉีกตั๋ว) โดยกรมอุทยานฯ ปรับการบริหารจัดการการเข้าท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วยการจองคิวล่วงหน้า สำหรับระบบ E-Ticket นำร่องในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่งได้แก่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาตนรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติเอราวัณตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยให้ชำระเงินผ่านบัตรเครติตเดบิตหรือชำระเงินผ่าน Thai OR Payment เงินเข้าบัญชีของกรมเท่านั้น ลดการจัดเก็บและรักษาเงินของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ปัจจุบันได้ให้อุทยานแห่งชาติอื่นๆ เริ่มดำเนินการแล้ว อีกทั้งได้ขอรับการสนับสนุนการปรับปรุงระบบบริการโทรคมนาคมจากสำนักงานกสทช. เพื่อให้สัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุมการใช้งานทุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ พร้อมกันนี้จะเร่งปรับปรุงซอฟแวร์ระบบจองคิวล่วงหน้าและเก็บค่าบริการผ่านออนไลน์ให้สมบูรณ์ใน 2 ปี เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ครบทุกบาททุกสตางค์ สุจริต และโปร่งใส
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ได้ให้คำแนะนำกรมอุทยานฯ เกี่ยวกับการยกระดับคะแนนการประเมินINTEGRITY AND TRANSPARENCY ASSESSMENT (ITA) ซึ่งเป็นการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มีตัวชี้วัด 3 ส่วนคือ
- แบบวัดความรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) คนในองค์กรจะเป็นผู้ประเมินผู้บริหารเช่น การใช้งบประมาณและการใช้อำนาจในตำแหน่ง
- แบบวัดการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ประชาชนที่ไปใช้บริการหรือเข้าไปติดต่อจะเป็นผู้ประเมินหน่วยงาน
- การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (OIT) เน้นการเปิดเผยข้อมูลภายในเช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลโครงสร้างองค์กร
ส่วนการติดตามการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติพบว่า เพียงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – 7 มีนาคม 2566 จัดเก็บได้ 700,007,731.61 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับตลอดปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจัดเก็บได้ 715.663.249.59 บาท จึงถือว่าเป็นที่น่าพอใจ.-สำนักข่าวไทย