กรุงเทพฯ 9 มี.ค.-กรมควบคุมมลพิษร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคม ภาคเอกชนที่เป็น Brand Owner ขนาดใหญ่ และบริษัทรับกำจัดของเสียอันตราย ประกาศเจตนารมณ์ “โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน” เพื่อส่งเสริมการคัดแยกของเสียที่อาจมีโลหะหนักอันตรายออกจากมูลฝอยทั่วไป โดยจะขยายจุดเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ให้เป็นกว่า 5,000 แห่ง แล้วนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 นี้ กรมคพ. ขยายผลการดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนเพื่อคัดแยกของเสียอันตรายไม่ให้ปะปนไปถึงแหล่งกำจัดมูลฝอยซึ่งอาจทำให้โลหะหนักปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหาร
ทั้งนี้ในปี 2565 ประเทศไทยมีของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 600,000 ตัน ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์และจัดการอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 13 ปัญหาสำคัญ คือ ประชาชนยังไม่แยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากมูลฝอยทั่วไป จุดทิ้งยังไม่ครอบคลุมหรือเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่การแสดงเจตนารมณ์ในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนในวันนี้ เพื่อสนับสนุนการจัดให้มีจุดทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชน หรือจุด drop off และส่งเสริมให้ประชาชนมีการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากมูลฝอยทั่วไป ซึ่งเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ปี 2560 นำร่องรับของเสีย 4 ประเภท คือ หลอดไฟ ถ่ายไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และซากโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ต่อพ่วง ของเสียอันตรายเหล่านี้หากทิ้งรวมกับมูลฝอยทั่วไปและได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้องและเกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นและระยะยาว
ปี 2566 คพ. มีแผนที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ จึงร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคม ภาคเอกชนที่เป็น Brand Owner ขนาดใหญ่ และบริษัทรับกำจัดของเสียอันตรายรวม 50 องค์กร ตั้งเป้าหมายจัดให้มีจุด drop off ของเสียอันตรายจากชุมชนกว่า 5,000 แห่ง สำหรับอำนวยความสะดวกในการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างถูกต้องให้กับประชาชน และรวบรวมส่งให้กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปบำบัดหรือกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ มีความตระหนัก และให้ความสำคัญกับอันตรายจากของเสียอันตรายจากชุมชน มีการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างถูกต้อง ทำให้เก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนเข้าสู่ระบบมากขึ้นและได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และเป็นการสร้างเครือข่ายในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ.-สำนักข่าวไทย