เชียงใหม่ 3 มี.ค. –ปลัดทส. สั่งยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและแก้ไขวิกฤติฝุ่นละอองภาคเหนือเนื่องจากกรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องจนถึงวันที่ 10 มีนาคม ค่าฝุ่น PM2.5 หลายพื้นที่ยังสูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า สั่งการหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทส. ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่น PM2.5ให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา โดยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในพื้นที่ป่า ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ควบคุมพื้นที่เสี่ยงโดยการปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (ยกเว้นส่วนให้บริการ) และควบคุมการเข้าใช้ประโยชน์ในป่า เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังและดับไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อากาศยานไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ดำเนินงานใกล้ชิดประชาชน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
พร้อมกันนี้ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ประสานงานการดำเนินงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานสถานการณ์ และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา และยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับจังหวัด
นอกจากนี้ยังประสานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้กกำกับดูแลควบคุมการเผาอ้อย ประสานการจัดทำฝนหลวง และอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งเราได้ยกระดับมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 4 ซึ่งต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ในปี 2566 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5จะมีความรุนแรง เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง จึงได้เตรียมมาตรการรับมือ ประกอบด้วย
1. การดำเนินงานด้านนโยบาย ใช้พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี พ.ศ. 2550 เป็นกลไกหลักกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สั่งการไปยังทุกหน่วยงานในจังหวัด ไปยังอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
2. การบูรณาการการทำงานผ่านกลไกที่หลากหลาย ได้แก่ การบูรณาการในระดับภาค การบูรณาการภายใน ทส. และการบูรณาการในระดับจังหวัด โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 3 ระดับ และประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
3. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชุมชน ในการดูแลรักษาป่าและเฝ้าระวังไฟ
4. การดูแลสุขภาพประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น และจัดตั้งคลีนิคมลพิษ
นอกจากนี้ ยังใช้แนวทางในการจัดการพื้นที่ป่าที่ได้รับนโยบายจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “3 เกาะติด 3 ปฏิบัติ” โดย เกาะติดที่ 1 คือ เกาะติดข้อมูลข่าวสาร เกาะติดที่ 2 คือ เกาะติดพื้นที่ และเกาะติดที่ 3 คือ เกาะติดประชาชน ส่วนการปฏิบัติ ได้แก่ ปฏิบัติที่ 1 คือ ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ ปฏิบัติที่ 2 คือ ปฏิบัติร่วมกับหน่วยข้าราชการอื่น และปฏิบัติที่ 3 คือ ปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายและประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติจริง อาจพบปัญหาและอุปสรรค จึงต้องพลิกแพลงและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมอยู่เสมอ
นางสาวศิวพร รังสิยานนท์ โฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งหลายพื้นที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
จากข้อมูลการติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในภาพรวมของพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าเฉลี่ยของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ ศกพ. คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ PM2.5 ยังมีแนวโน้มฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน ระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคม 2566
พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือจากประชาชน ให้ร่วมเฝ้าระวังสถานการณ์ หากพบเห็นการลักลอบเผาป่าหรือพบไฟในพื้นที่ใด ให้แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 และสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ขอให้ปฏิบัติตน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ “คลินิกมลพิษออนไลน์” และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบพบแพทย์ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ส่วนการติดตามข้อมมูลคุณภาพอากาศ ให้ติดตามจากแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ Air4Thai และเฟซบุ๊ก “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) .-สำนักข่าวไทย