กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผยสั่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคให้ขึ้นบินทำฝนทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อลดหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ดับไฟป่า บรรเทาภัยแล้ง และยับยั้งพายุลูกเห็บ
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภูมิภาคครอบคลุมทั่วประเทศ เริ่มปฏิบัติการแล้ว โดยมีอากาศยานรวมทั้งหมด 30 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 24 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ 6 ลำ ประจำการในหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงต่างๆ ดังนี้
1.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป
2.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดแพร่ ตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2566 และ วันที่ 1-30 มิถุนายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2566 และวันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2566
3.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 สิงหาคม 2566
4.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 กันยายน 2566
5.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 กันยายน 2566
6.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2566
7.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2566
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 กันยายน 2566
สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงจะเน้นสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ป้องกันการเกิดพายุลูกเห็บ สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง รวมถึงการเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ
สำหรับในปี 2566 คาดการณ์ว่าอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าปกติมาใน 2 ปีที่ผ่านมาจะปรับเปลี่ยนเป็นกลับเป็นปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งมากขึ้นและฝนตกน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่อาจมีปริมาณน้ำเก็บกักได้น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น
ทั้งนี้ แผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของสภาพอากาศและความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมในการปฏิบัติการช่วยเหลือให้ตรงตามเป้าหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
ประชาชนสามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2109 5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Instagram Tiktok Twitter : @drraa_pr และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย