กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ แจ้งความเอาผิดเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำ ที่ลักลอบทำประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สั่งการให้นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วยนายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อให้ดำเนินคดีเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำ ที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับการประสานจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลในเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ซึ่งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหาจากชาวบ้านเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบพบเรือประมงขนาดใหญ่กำลังลากอวนทำการประมงอยู่ในทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงประสานกับกรมประมงเพื่อตรวจสอบกรณีเรือประมงที่ลักลอบเข้าไปทำประมงในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา พบว่ามีเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2566 จึงได้นำข้อมูลในระบบติดตามเรือประมง (VMS) ที่เข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา พร้อมทั้งเส้นทางการทำประมงของเรือประมงทั้ง 27 ลำ มายืนยันชัดเจนว่าจุดที่มีการทำประมงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
สำหรับการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ข้อหาได้แก่
1.ฐานร่วมกันกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
2.ฐานร่วมกันล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
3.ฐานร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
4.ฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
5.ฐานบุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
สำหรับเรือประมงทั้ง 27 ลำ มีขนาดระหว่าง 40-113 ตันกรอส ซึ่งการเข้าเข้าไปจับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่อุทยานจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการกระทำผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท.-สำนักข่าวไทย