กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – “รัฐมนตรีวราวุธ” สั่งกรมควบคุมมลพิษบูรณาการทุกหน่วยงานป้องกันและแก้ไขแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยคาดว่า ต้นปี 2566 อาจมีการสะสมของฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศและปัจจัยอื่นๆ ย้ำการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ แก้ไขจากแหล่งกำเนิด พร้อมเร่งขับเคลื่อนการลดจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้กรมควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงปลายปีและต้นปีที่มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยทำให้เกิดการสะสม โดยพบว่า สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน
สำหรับการดำเนินการต้องเกี่ยวเนื่องทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ตามหลักการ 3 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากการป้องกันและแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ป้องกันและแก้ไขจากแหล่งกำเนิด ประกอบด้วย พื้นที่เมือง ให้เข้มงวดการตรวจยานพาหนะควันดำ โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ พื้นที่ป่าต้องไม่มีการเผาโดยเด็ดขาด และพื้นที่การเกษตรจะบริหารจัดการวัสดุทางการเกษตรโดยการนำไปใช้ประโยชน์ และต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ให้ขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ทั้งการ “ชิงเก็บ ลดเผา” และ “การใช้ระบบบริหารการเผาในที่โล่ง” เพื่อควบคุมการเกิดไฟในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร โดยมุ่งเน้นการเก็บเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับชุมชน บนหลักการ BCG สำหรับพื้นที่เมือง ให้เข้มงวดกวดขัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับรถที่ระบายสารมลพิษ โดยเฉพาะควันดำ และให้จัดระบบการจราจรให้คล่องตัวในช่วงสภาวะอากาศปิด และประสานเอกชนในการช่วยเหลือประชาชนในการตรวจสภาพรถยนต์และเปลี่ยนอะไหล่ราคาถูก รวมทั้งตรวจสอบ กำกับ ดูแลโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และขยายผล/เพิ่มประสิทธิภาพให้มีการลดการเผาอ้อย ให้บรรลุเป้าหมายและมาตรการที่ตั้งไว้
นายวราวุธกล่าวถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนว่า ต้องขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหาตามกลไกอาเซียน ด้วยการผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ โดยในการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 11 (11th Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region หรือ 11th MSC Mekong) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยมีเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามเข้าร่วม ที่ประชุมยอมรับข้อเสนอของประเทศไทยในการตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai Plan of Action) ในปี 2566 2567 และ 2568 ลงร้อยละ 30 35 และ 40 ตามลำดับ จากที่ในปี 2565 การลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงบรรลุเป้าหมายที่ 20% โดยใช้จำนวนจุดความร้อนปี 2563 เป็นฐาน
ทั้งนี้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai 2017 Plan of Action) ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มไว้เมื่อปี 2560 เพื่อยกระดับเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงสำหรับแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับผลสำเร็จของการดำเนินงานลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงปี 2565 ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 20% ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันให้มีการตั้งเป้าหมายร่วมอาเซียนในการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 16 เมื่อปี 2564 โดยประเทศสมาชิกขอบคุณที่ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และการอบรมให้ความรู้แก่ประเทศสมาชิกในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงต่อไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในอาเซียน.-สำนักข่าวไทย