กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – กรมทะเลและชายฝั่งเปิดศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ศปพ.ทช.) ให้ทีม “ฉลามขาว” นำเทคโนโลยีสำหรับสำรวจตรวจพื้นที่มาใช้ ร่วมกับการสอบสวนเชิงลึกเพื่อดำเนินงานภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล
นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ศปพ.ทช.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมมอบธงชุดปฏิบัติการพิเศษ (ฉลามขาว) และประดับอาร์มเครื่องหมายชุดปฏิบัติการพิเศษ (ฉลามขาว) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายยุทธพลมอบนโยบายในการปฏิบัติงาน โดยเน้นให้ทำงานร่วมกับประชาชน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เพราะถือเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งที่สุด พร้อมทั้งให้สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ การปราบปรามการกระทำความผิดทางทะเลให้ใช้การสอบสวนเชิงลึก เพื่อนำนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ อีกทั้งให้จัดหาเทคโนโลยีในการสำรวจตรวจพื้นที่ทะเลและชายฝั่งที่มีความรวดเร็วปลอดภัยเช่น การใช้โดรนบินลาดตระเวน ถ่ายภาพหรือติดตามสถานการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีอะไรที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้นเราต้องเร่งดำเนินการทันที ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ศปพ.ทช.) มีหน่วยงานประกอบด้วย กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล (ศรชล.) กองป้องกันและปราบปราม ส่วนยุทธการ ส่วนพิทักษ์ทรัพยากร กรม ทช. มีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ 386 ราย
สำหรับภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วยการป้องกันและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างทันท่วงที และยึดคืนพื้นที่จากผู้บุกรุกครอบครอง พัฒนาระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเป็นเอกภาพในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินคดีด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ถึงที่สุดโดยเร็ว
นอกจากนี้ยังปฏิบัติการร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) อีกทั้งช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติและการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามภารกิจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ รวมทั้งภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วย กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กองป้องกันและปราบปราม โดยแบ่งงานภายในเป็น 4 ส่วน และ 10 หน่วยงานปฏิบัติพิเศษภายใต้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและพิทักษ์ทะเล ที่ทำหน้าที่ในการดูแล รักษา คุ้มครอง และป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า กรม ทช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านทะเล ด้านชายหาด ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง และด้านป่าชายเลน เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลระบบปฏิบัติการด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ร่วมกับชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ศปพ.ทช. จะต้องมีองค์ความรู้ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามต่อพื้นที่ทรัพยากรทางทะเล และข้อมูลของการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Smart Marine Patrol) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการปฏิบัติงาน มีทักษะในการสื่อสาร การเจรจา รวมถึงพาหนะ เช่น เรือตรวจการณ์ต่างๆ ต้องพร้อมใช้งานและซ่อมบำรุงอยู่เสมอ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความรอบคอบ ประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันอันตราย ให้คำนึงถึงความปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย