กรุงเทพฯ 31 ส.ค.-รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยคดีอดีตผู้กำกับโจ้ อัยการจะพิจารณาพยานหลักฐานทุกอย่างที่ปรากฏ ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยาน
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า คดีผู้กำกับโจ้ พนักงานอัยการจะพิจารณาพยานหลักฐานทุกอย่างที่ปรากฏในสำนวนที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเข้ามา ดังนั้นคลิปวิดีโอ ถ้าอยู่ในสำนวน พนักงานอัยการจะพิจารณาแน่นอน เพราะคลิปวิดีโอถือเป็นวัตถุพยานที่สำคัญ แต่ถ้าสำนวนคดีที่ส่งมายังพนักงานอัยการไม่มีคลิปวิดีโอ ทางอัยการก็จะพิจารณาในสำนวนว่ามีจุดก่อเกี่ยวกับคดีอย่างไรหรือไม่ ถ้ามีทางพนักงานอัยการจะสั่งพนักงานสอบสวนไปสอบสวนเพิ่มเติมและนำสำนวนส่งเข้ามาพิจารณา โดยอัยการจะพิจารณาดูทุกเรื่องทุกประเด็นของคดี
โดยพยานสำนวนการสอบสวนที่อัยการจะพิจารณา แบ่งเป็น 3 ประเภท
- พยานบุคคล คือ ประจักษ์พยาน คือ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือ พยานผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์นิติวิทยาศาสตร์ ผู้ผ่าชันสูตร หรือ พยานแวดล้อม เช่น พ่อเเม่ ผู้ยืนยันว่าบุตรเสียชีวิต
- พยานเอกสาร เช่น รายงานการตรวจศพของแพทย์ หรือ ผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต
- วัตถุพยาน เช่น ภาพจากกล้องวิดีโอคลิปในมือถือ ภาพถ่าย หรือ อาวุธที่ทำร้าย รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิด
สำหรับประเด็นเรื่องการชันสูตรพลิกศพ ถือเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยร่างกายผู้ตาย ว่า ผู้ตายคือใคร ตายเมื่อใด ใครเป็นผู้กระทำให้ตาย ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 “เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย”
การตายโดยผิดธรรมชาติคือ 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
• การฆ่าตัวตาย
• การถูกสัตว์ทำร้าย
• การตายโดยอุบัติเหตุ
• การตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ
• การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
แนวทางในทางกฎหมายของคดีนี้ คือ
- เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน (ต้องมีเหตุผลที่มีการขยายเวลา)
- เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลทำการไต่สวน และทำคำสั่งแสดงว่า
• ผู้ตายคือใคร ?
• ตายที่ไหน ?
• ตายเมื่อใด ?
• เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ?
ถ้าเสียชีวิตโดยมีคนทำร้าย ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำนวน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน (ต้องมีเหตุผลที่มีการขยายเวลา)
- ในการไต่สวน ให้ศาลแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และแจ้งวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทน โดยชอบธรรม หรือญาติของผู้ตาย อย่างน้อย 1 คน ให้รู้ก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 15 วัน
- ก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือญาติของผู้ตาย มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยาน นอกจากนี้ยังมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้
- ศาลสามารถเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมได้ และยังขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนได้ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการนี้ ก็จะได้พยานสำคัญที่นำไปประกอบคดีของผู้กำกับโจ้และพวกต่อไป.-สำนักข่าวไทย