กทม. 22 พ.ค.- ศาลอาญายกฟ้องคดี “สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์” ฟ้องปลัดมหาดไทย กล่าวด้อยค่าผู้ใต้บังคับบัญชา เหตุไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
วันนี้ ศาลอาญา ตลิ่งชัน มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่นายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ในฐานะ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม เป็นโจทก์ฟ้องนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา 14(1) ในกรณีที่ปลัดสุทธิพงษ์ กล่าวด้อยค่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง และผู้อื่น ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อปลายปี2565 ที่ ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง (ตลิ่งชัน)
โดยนายสงกานต์ ที่เดินทางมาร่วมฟังคำสั่งฟ้อง กล่าวว่า เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ศาลจะรับฟ้อง ซึ่งกรณีนี้ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงพอสมควรแล้ว และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสำนวน เอกสารชี้แจงเหตุผลของการกล่าวพาดพิงผู้ใต้บังคับบัญชาดังกล่าวและให้ชี้แจงว่า ได้มีการดำเนินการต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูกนายสุทธิพงษ์พาดพิงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม พบว่าไม่มีการส่งเอกสารชี้แจงใด ๆ มาจากปลัดกระทรวงมหาดไทย
นายสงกานต์ กล่าวว่า ไม่มองว่าคดีนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย และอยากให้คดีนี้เป็นบรรทัดฐานของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ควรกล่าวพาดพิงด้อยค่า และใช้ถ้อยคำด้อยค่าดูหมิ่นเหยียดหยามอีก
จากนั้น หลังศาลสั่งยกฟ้องคดี นายสงกานต์ กล่าวอีกครั้ง ยืนยันจะขออุทธรณ์ต่อศาลสูงต่อไปภายใน 15 วันเนื่องจากมองว่า ศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวโดยตรง เช่น ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือเมื่อไปสมัครงาน เนื่องจากผู้พูดได้กล่าวในฐานะที่เป็นข้าราชการระดับสูงทำให้หลายคนเชื่อถือคล้อยตาม อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าราชการที่ถูกด้อยค่า ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงนั้น เชื่อว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องเนื่องจากเป็นข้าราชการในระบบ และผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณหรือโทษได้
นายสงกานต์กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยสยามในปี 2554 เช่นกัน และก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ทำเอกสารชี้แจงส่งมายังศาลแล้ว รวมทั้งได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามและที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ โดยอ้างว่าไม่มีเจตนาในการกระทำดังกล่าว เป็นการมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรให้ดีขึ้นรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มองว่ายังรับผิดชอบไม่เพียงพอ ปลัดฯควรกล่าวขอโทษผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เช่นเดียวกับตอนที่พูดพาดพิงจึงจะเยียวยาจิตใจผู้เสียหายได้มากกว่า .-สำนักข่าวไทย