กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – โฆษก ตร. ยืนยันเป็นใบสั่งจริง ตำรวจจราจรได้เริ่มใช้งานใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่ พ.ค.65 เป็นต้นมา โดยเป็นการนำระบบเทคโนโลยีและฐานข้อมูลมาใช้ออกใบสั่ง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (4 ธ.ค.65) เวลา 18.00 น. พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า กรณีภาพถ่ายใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ที่เพจหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นำมาโพสต์ โดยระบุ “ใบสั่งแบบนี้มันจะไปติดที่หน้าต่างรถ อย่า scan จ่ายเด็ดขาด มันของปลอม เพื่อนเพิ่งได้รับมา” นั้น
ตนได้ตรวจสอบไปยังผู้ออกใบสั่ง คือ สน.บางยี่ขัน แล้วพบว่าเป็นใบสั่งจริง และขอเรียนชี้แจงว่า ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ คือ การออกใบสั่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบพกพา ที่มีการติดตั้งแอปพลิเคชันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชื่อว่า Police Ticket Management (PTM) เพื่อใช้เป็นโปรแกรมออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตำรวจจราจรจะพิมพ์ใบสั่งออกมาจากเครื่องให้กับผู้ขับขี่ที่ทำผิดได้ทันที โดยจะใช้กรณีที่พบการกระทำผิดซึ่งหน้า (แบบเดียวกับใบสั่งรูปแบบที่ต้องเขียนด้วยลายมือ) เช่น ไม่สวมหมวกหรือไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทางต่างๆ รวมถึงจอดรถในที่ห้ามจอดด้วย
ข้อมูลในใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะมีการระบุข้อหาและอัตราค่าปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของ ตร. อย่างชัดเจนในใบสั่งทุกใบ โดยข้อมูลจะเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแบบ real time รวมถึงจะแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น วัน เวลา และสถานที่ที่ทำผิด ข้อมูลทะเบียนรถ ข้อมูลใบขับขี่ (กรณีพบตัวผู้ทำผิด) ชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่ออกใบสั่ง นอกจากนั้น จะมี QR Code ด้านล่างสำหรับอำนวยความสะดวกประชาชนในการชำระค่าปรับผ่านระบบ mobile banking และ QR Code สำหรับตรวจสอบใบสั่งของตนเอง ผ่านเว็บไซต์ E-ticket (https://ptm.police.go.th/eTicket)
ปัจจุบัน ใบสั่งของตำรวจจราจรจะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
1) ใบสั่งแบบเขียนด้วยลายมือ
2) ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นกรณีตรวจจับโดยกล้องอุปกรณ์ และ
3) ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ รูปแบบของใบสั่งนั้น เป็นไปตามประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานด้วยระบบเทคโนโลยีดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการออกใบสั่งมีมาตรฐาน เป็นสากล โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงาน และเคารพกฎจราจร ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ปลอดภัย ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างเป็นรูปธรรม. – สำนักข่าวไทย