กรุงเทพฯ 29 ต.ค. – ผู้เสียหายซื้อรถป้ายแดง ทราบภายหลังเป็นป้ายทะเบียนปลอม หลังถูกตำรวจจับแจ้งข้อหาดำเนินคดี เข้ากับปรึกษาอัยการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของคดีความ
วันนี้ (29 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคุ้มครองสิทธิเเละช่วยเหลือกฎหมายทางกฎหมายประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นางสาวบี นามสมมุติ ผู้เสียหาย เดินทางเข้าปรึกษาอัยการคุ้มครองผู้บริโภค หลังซื้อรถยนต์ปิคอัพจากโชว์รูมย่านตลิ่งชัน ออกรถป้ายแดงมาแล้ว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบริเวณทางด่วนบางนาบูรพาวิถี ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จ.สมุทรปราการ ดำเนินคดีอาญา จึงเดินทางเข้ามาขอคำปรึกษาจากอัยการคุ้มครองผู้บริโภค
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เเละโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เเละ น.ส.จีรวรรณ นิลอุบล อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับเรื่องเเละรับฟังข้อเท็จจริง
ภายหลังรับฟังข้อเท็จจริง นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า สคช. เรามีหน่วยงานฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน โดยผู้เสียหายเข้ามาที่สำนักงานก็จะมีทนายอาสา ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง โดยมีอัยการพิเศษฝ่าย เข้าร่วมสอบข้อเท็จจริงด้วย โดยภารกิจของการคุ้มครองผู้บริโภค เราจะช่วยเหลือกฎหมายและเยียวยาโดยการเรียกร้องสิทธิให้
เบื้องต้นทราบว่าผู้เสียหาย โดนแจ้งข้อหา มีและใช้เอกสารราชการปลอม จากกรณีติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอม หลังจากผู้เสียหายเข้ามา ตนเองได้ไปยืมป้ายทะเบียนป้ายแดง จากศูนย์รถแห่งหนึ่งย่านรัชดา พร้อมให้ผู้เสียหายอธิบายความแตกต่างจากป้ายที่ตนเอง ถูกแจ้งข้อหา จะเห็นได้ว่า ความแตกต่าง คือ ป้ายทะเบียนของจริง จะมีลายน้ำพร้อมมีตัวเลขเล็กๆ กำกับอยู่ด้านซ้ายล่าง และด้านขวาจะมีตราขนส่งอยู่ ซึ่งป้ายปลอมที่ผู้เสียหายถูกดำเนินคดี ไม่มีลักษณะดังกล่าวและป้ายที่แท้จริงต้องมีเล่มรถกำกับ
กรณีนี้ผู้เสียหาย ถูกตำรวจแจ้งข้อหาและนำตัวเข้าห้องควบคุม ของ สภ.บางแก้ว นานกว่า 5 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา ซึ่งเรื่องแรกที่ผู้เสียหายมาขอความช่วยเหลือ คือ ห่วงเรื่องคดีอาญาที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งทางอัยการ สคช. ได้ให้ความรู้ถึงกระบวนการ ตั้งแต่ชั้นจับกุมขึ้นไป และแนะนำผู้เสียหายให้รู้ถึงสิทธิ เพราะอัยการ สคช. ไม่มีหน้าที่ไปฟ้องใคร แต่มีหน้าที่ให้ความรู้ ในกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อใช้สู้คดี ในกรณีที่ต้องคดีอาญา ซึ่ง ป.วิอาญา กำหนดไว้ว่า พนักงานสอบสวน จะต้องสอบให้ได้ความจริงทั้ง 2 ฝ่าย ต้องสอบให้ได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำผิด หรือ บริสุทธิ์ ไม่ใช่สอบเพื่อเอาผิดอย่างเดียว โดยหลังจากสอบสวนดำเนินคดีแล้ว พนักงานสอบสวน จะทำความเห็นส่งอัยการว่าควรจะสั่งฟ้อง หรือไม่ควรสั่งฟ้อง พร้อมแนบเหตุผลประกอบ พนักงานอัยการก็จะพิจารณาตามพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งทางคดีต่อไป
โดยหลังจากสอบข้อเท็จจริง ทางอัยการจะขอทราบความประสงค์ของผู้เสียหายว่า ประสงค์จะได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง และจะช่วยเหลือ ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นนโยบายของ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุดที่สั่งการให้อัยการ สคช. ปฏิบัติหน้าที่เชิงรุก
เมื่อถามว่า ข้อมูลที่ผู้เสียหาย มายื่นร้องขออัยการ จะถูกส่งไปยังสำนวนคดีอาญาที่มีการพิจารณาด้วยหรือไม่ นายโกศลวัฒน์ ตอบว่าอาจจะมีการส่งไป ถ้าอัยการที่ทำคดีถามมา และเมื่อถามว่าจะมีการฟ้องคดีผู้บริโภคกับเซลล์ และศูนย์รถยนต์ หรือไม่ นายโกศลวัฒน์ ตอบว่า อัยการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจจะฟ้องคดีให้ได้ และเป็นบริการฟรีไม่เสียเงิน ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ผู้ร้องกล่าว ก็ฟ้องได้ แต่เบื้องต้น ต้องเชิญ ศูนย์รถ หรือเซลล์ เข้ามาพูดคุยหรือเจรจากันก่อน ว่าจะเยียวยาแก้ไขอย่างไร ถ้าเจรจากันได้ก็ไม่ต้องดำเนินคดี ส่วนมากจะจบที่การไกล่เกลี่ย
เมื่อถามว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ร้องผลคดีจะเปลี่ยนไปหรือไม่ นายโกศลวัฒน์ เผยว่าการดำเนินคดีอาญา คือ การนำความจริงมาดำเนินคดีทางกฎหมาย ข้อมูลจะต้องเป็นไปตามความจริงว่า เกิดอะไรขึ้นในส่วนนี้ก็ต้องให้เวลาการสืบสวนของตำรวจ ซึ่งในกระบวนการดำเนินคดีอาญา พยานหลักฐานจะต้องเข้าสู่สำนวนโดยชอบ
ขณะที่ผู้เสียหาย กล่าวตอบคำถามจะดำเนินคดีกับเซลล์ขายรถและศูนย์รถยนต์หรือไม่ ว่าในเบื้องต้นยังไม่คิดดำเนินคดีกับใคร อยากได้รับความเป็นธรรมในคดี ซึ่งวันนี้ได้รับความเมตตา จากอัยการที่เข้ามาดูแล ซึ่งได้รับคำแนะนำที่ดีมาก อธิบายละเอียดจนทำให้เข้าใจทุกอย่าง จริงๆ เรื่องนี้ เราไม่ควรจะถึงขั้นไปฟ้อง เเต่คนที่ทำควรออกมารับผิดชอบ หลังจากได้คุยกับอัยการ วันนี้สบายใจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมา รู้สึกว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร บริสุทธิ์ใจมาโดยตลอด แต่กลายเป็นว่า เราจะมีรถสักคัน กลับกลายเป็นปัญหา จากการหาข้อมูลพบว่า นอกจากเราแล้ว ก็เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมานานแต่กลับไม่มีใครถูกดำเนินคดี เรื่องที่ศูนย์รถ ส่งมอบป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอมมีมานานแล้ว ที่ผ่านมาไม่มีใครโดนจับ ทำไมเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขสักที ทั้งที่มีมานานแล้ว แต่ละคนจะมีเหตุผลในมุมของตัวเอง อย่างตนเองเดือดร้อนเพราะถูกดำเนินคดี คนขายรถเดือดร้อนเพราะป้ายแดงขนส่งมีไม่พอ ทางศูนย์ก็เดือดร้อนเพราะขายรถไม่ได้ กลายเป็นว่า ทุกคนเดือดร้อนไปหมดไม่มีการแก้ปัญหา ต้องรอให้เป็นข่าวกันก่อนหรืออย่างไร
เมื่อถามว่าศูนย์รถ ติดต่อมาหรือไม่ บอกตามตรงว่า ยังไม่มี เราโดนแจ้งข้อหาในคดีอาญาที่จะไปขอให้การเพิ่มเติม เพื่อให้ทางพนักงานสอบสวน ทราบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เพื่อจะให้พนักงานสอบสวน ทำความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง เราจึงอยากขอให้พนักงานสอบสวน ที่เป็นเจ้าของคดี ให้ตนเองได้นำความจริงไปให้การเพิ่มเติม .-สำนักข่าวไทย