กรุงเทพฯ 21 ต.ค.- เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ชี้ปัญหาตำรวจขโมยปืนหลวงมีมานานมากแล้ว มีเกือบทุกสถานี ส่วนใหญ่จะขโมยไปจำนำ พอมีเงินก็ไปไถ่ถอนกลับมา ขณะที่ปัจจุบันตำรวจไม่นิยมใช้ปืนหลวง เพราะมีปืนส่วนตัวแล้ว เป็นช่องทางก่อเหตุขโมยปืน
เมื่อเวลา 15.00 น. พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาดาบตำรวจขโมยปืนหลวงขายว่า ปัญหาตำรวจขโมยปืนหลวงมีมานานมากแล้ว และเป็นแบบนี้เกือบทุกสถานี เพียงแต่มากน้อยต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการขโมยไปจำนำเท่านั้น พอมีเงินก็ไปไถ่ถอนกลับมา เมื่อถามว่าเหตุใดคนถึงกล้ารับจำนำทั้งที่เป็นปืนหลวง นั่นเพราะเป็นปืนหลวงจึงมั่นใจได้ว่าจะต้องมีการไถ่ถอน ซึ่งได้เงินกลับคืนแน่นอน แต่การจะนำไปขายเป็นเรื่องยาก ไม่ค่อยมีคนกล้าซื้อ เพราะกลัวปัญหาตามมา
เช่นเดียวกับกรณีดาบตำรวจ สภ.ปากเกร็ด แต่ในกรณีนี้อาวุธปืน ซึ่งเป็นของหลวงถูกนำออกไปเป็นจำนวนมากและเกือบทั้งหมดเป็นการนำไปจำนำ มีเพียงบางส่วนที่นำไปขายเพราะได้ราคาสูงและคนซื้อ มีความกล้าที่จะรับซื้อ ส่วนดาบตำรวจนายนี้อาจคิดว่าไม่มีใครสนใจจะเบิกไปใช้ เพราะทุกนายมีปืนส่วนตัวแล้ว
สำหรับจำนวนอาวุธปืนที่อยู่ในห้องเก็บอาวุธของแต่ละสถานีมีมากเท่าไร ทำไม่ถึงหายไปเป็นร้อย แต่หัวหน้าสถานีกลับไม่รู้เรื่องนั้น อดีตตำรวจนายนี้ระบุว่า ปกติแล้วปืนหลวงต้องมีประมาณ 60% ของจำนวนข้าราชการตำรวจทั้งสถานี เพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่ดูแลด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเบื้องต้นเบิกไปใช้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เช่น ตำรวจฝ่ายสืบสวน/ตำรวจฝ่ายป้องกันและปราบปราม หรือสายตรวจ เป็นต้น แต่ตำรวจธุรการหรือแม้แต่พนักงานสอบสวน ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปืนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
แต่ในปัจจุบันข้าราชการตำรวจไม่นิยมเบิกปืนหลวงมาใช้ เพราะมองว่าปืนหลวงไม่สวย ไม่เท่ ไม่ทันสมัย ที่สำคัญหากสูญหายจะต้องถูกตรวจสอบ และหลังออกเวรต้องคืนปืนทันที เมื่อมีโครงการจัดอาวุธปืนสวัสดิการของรัฐ ซึ่งมีราคาถูกและยกเว้นภาษี ตำรวจทั้งประเทศ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม หรือแม้แต่ตำรวจธุรการ ต่างซื้อปืนไว้ในครอบครอง เป็นสมบัติส่วนตัว บ้างซื้อไว้ขายต่อในอนาคตเพื่อเก็งกำไร บางนายอาจมีมากกว่า 5 กระบอก ด้วยซ้ำ
และด้วยเหตุผลข้างต้นที่ว่าตำรวจไม่นิยมเบิกปืนหลวงใช้งาน จึงเป็นช่องทางให้ตำรวจซึ่งทำหน้าที่เบิกจ่าย หรือเฝ้าห้องเก็บอาวุธ นำอาวุธปืนออกไปแปรสภาพเป็นเงินนำมาใช้จ่าย เมื่อหลายปีก่อนก็เคยเกิดเหตุในลักษณะนี้มาแล้วในพื้นที่ จ.ลำพูน ตำรวจซึ่งเป็นผู้ดูแลห้องเก็บอาวุธนำปืนออกไปจำนำเกือบ 10 กระบอก.-สำนักข่าวไทย