กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- รมว.ยุติธรรม สั่งกรมราชทัณฑ์ตรวจสอบการพ้นโทษของ “ครรชิต” อดีต ส.ส. ซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่พบความผิดปกติในการได้เลื่อนชั้นนักโทษ แต่ให้ตรวจสอบเพิ่มว่าคำนวณวันลดโทษผิดหรือไม่ ตอนนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่ม Watch List 1 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แถลงข่าว “ทุกครอบครัวและสังคมต้องปลอดภัยด้วยกฎหมาย JSOC” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. หรือ JSOC ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย ในการดูแลกลุ่มบุคคลอันตราย สร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุมประพฤติ เสนอพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ 3 กลุ่ม คือ ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา ข่มขืนเด็ก อนาจาร, ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกายจนอันตรายสาหัส, ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น เรียกค่าไถ่
หลังกฎหมายนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดในเรือนจำตามกฎหมาย โดยผู้ที่มีความรู้ นักจิตวิทยา เมื่อพ้นโทษแล้ว ต้องถูกติดกำไลอีเอ็ม 10 ปี เป็นขั้นสูงสุด ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่มีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ที่จะลงรายละเอียดว่าจะติดกำไลอีเอ็มคนที่พ้นโทษกี่ปีเป็นรายๆ ไป
รมว.ยุติธรรม อธิบายกลุ่มวอทช์ลิสต์ 3 กลุ่มผู้กระทำผิดที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ว่า วอทช์ลิสต์ 1 คือคนที่ออกจากเรือนจำไป แต่กฎหมายนี้ยังไม่บังคับใช้ จะไม่สามารถนำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้ได้ ให้กรมประพฤติติดตามดูเท่าที่ทำได้ ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดคดีทางเพศ ย้อนหลัง 3 ปี, วอทช์ลิสต์ 2 คือคนที่จะออกจากเรือนจำ เมื่อมีกฎหมายใช้แล้ว จะถูกจัดเป็นวอทช์ลิสต์ 2 และวอทช์ลิสต์ 3 คนที่กำลังจะเข้าเรือนจำใหม่ กำลังจะถูกพิพากษา ต้องทำเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้เฝ้าระวังตามกฎหมายฉบับนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวยกตัวอย่างนายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส. ซึ่งต้องโทษศาลฎีกาจำคุกตลอดชีวิตในคดีใช้อาวุธปืนยิงนายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาคร และเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำว่า นายครรชิต ถูกปล่อยตัวไปแล้ว เป็นช่วงที่กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายครรชิต จึงอยู่ในวอทช์ลิสต์ 1 ซึ่งกฎหมายอย่างไปไม่ถึง ต้องเฝ้าระวังติดตาม แต่ติดกำไล EM ไม่ได้ ตอนนี้ได้ให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบ ซึ่งในขั้นตอนที่นายครรชิต ได้ชั้นนักโทษต่างๆ ไม่พบจุดที่เป็นความผิด จึงขอให้กรมราชทัณฑ์ตั้งกรรมการตรวจสอบเชิงลึก สมมุติว่าตรวจสอบแล้วพบว่าคิดหรือคำนวณผิดไปสัก 3 เดือนหรือ 6 เดือน นายครรชิต ก็จะต้องถูกเรียกมาจองจำเพิ่มเติม และถ้ากฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำออกมาประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา นายครรชิตก็จะต้องถูกใส่กำไล EM ไปอีก 10 ปี เป็นการเฝ้าระวัง โดยให้เวลาตรวจสอบ 1-2 สัปดาห์
ขณะที่นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรณีของนายครรชิต ปล่อยตัวไปแล้ว เพราะได้ดำเนินการตามกฎหมาย กรมราชทัณฑ์จึงปล่อยตัวไป แต่ยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกรณีที่มีความสับสนเรื่องการพ้นโทษออกไปของคนในสังคม ตอนนี้กำลังมีการตรวจสอบตามที่รัฐมนตรีสั่งการ
ขณะที่ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำว่า เกิดจากคดีที่นายสมคิด พุ่มพวง ออกจากเรือนจำแล้วไปทำความผิดซ้ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงให้คิดวิธีที่จะป้กงกันการทำผิดซ้ำ แรกๆ ใช้เป็นระบบเชิงสร้างสรรค์ โดยการประสานงานกับตำรวจพื้นที่ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ให้ติดตามผู้พ้นโทษในกลุ่ม 3 คดีเฝ้าระวัง แต่ตามดูได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำได้ไม่เต็มที่ จึงต้องออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำในคดีฆ่า คดีทางเพศที่โหดร้ายทารุณ และคดีเรียกค่าไถ่ มีการไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย.-สำนักข่าวไทย