ทำเนียบรัฐบาล 26 ต.ค.-รองโฆษกรัฐบาลเผย ราชกิจจาฯ ประกาศกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศหรือใช้ความรุนแรงแล้ว มีผลหลังประกาศ 90 วัน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมพบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้วจะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อาทิ 1. กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิด ให้คำปรึกษาแลข้อเสนอแนะ และคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น
“2.มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด เช่น พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ ด้วยมาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง 3.มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ หากมีเหตุให้เชื่อว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ห้ามเข้าเขตกำหนด ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด เป็นต้น” น.ส.รัชดา กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 4.มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาด หากศาลเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดได้ 5.การคุมขังฉุกเฉิน กรณีมีเหตุเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิดและมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล รวมถึงกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นผู้กระท้าความผิดตามที่กำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับด้วย.-สำนักข่าวไทย