บอร์ดกมช.เลือกปรัชญาเฉลิมวัฒน์ เป็นเลขาธิการ

กรุงเทพฯ 7 ต.ค. รองนายกฯ เห็นชอบแต่งตั้ง “พลโทปรัชญา เฉลิมวัฒน์” เป็นเลขาธิการ กมช. ตามผลการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 3/2563 วันนี้  (7 ต.ค.) พร้อมด้วยคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งพลโทปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ตามผลการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา พลเอกประวิตร กล่าวว่า ในวันนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างและผลักดันความคืบหน้าในการขับเคลื่อนกลไกการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยมีการแต่งตั้งเลขาธิการ เพื่อให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน สกมช. และทำหน้าที่ที่กฎหมายไซเบอร์กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่าจ้างเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้สามารถเข้าปฏิบัติงานได้โดยเร็ว โดยวาระพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการ กมช. ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการตามที่กฎหมายไซเบอร์กำหนดคือเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในช่วงแรกของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ “ในการทำงานที่ผ่านมาของบอร์ดไซเบอร์ฯ เราได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.) เรียบร้อยแล้ว และได้มีการอนุมัติโครงสร้างของสำนักงานฯ แล้ว และมีการดำเนินการในส่วนของการจัดสร้างที่ตั้งของสำนักงาน งบประมาณและข้อบังคับต่างๆที่ /เกี่ยวข้องแล้ว จึงสามารถแต่งตั้งเลขาธิการได้” พลเอกประวิตรกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ผ่านมาระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2563 ในการเตรียมการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ภารกิจจัดทำแผนการดำเนินงานตามมาตรา13 ตามอำนาจหน้าที่ของ กกม. มีการจัดทำกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และจัดทำแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์บริการที่จัดเป็นบริการที่สำคัญ (Critical Services) และหน่วยงานควบคุมกำกับหรือดูแลหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ อีกทั้งมีการเตรียมการตามหน้าที่และอำนาจของของคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.) อาทิ จัดทำร่างกรอบโครงสร้างและอัตรากำลัง จัดทำร่างแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี(พ.ศ.2563 – 2565) จัดทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 2564 – 2565 ในการขอทุนประเดิม จัดทำร่างคำขอจัดกลุ่มองค์การมหาชนของ สกมช. จัดทำร่างข้อบังคับ กบส. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล และจัดทำร่างข้อบังคับ กบส. ว่าด้วยการบริหารงานการเงิน บัญชี งบประมาณ และทรัพย์สิน และภารกิจที่สำคัญอีกด้านคือ การจัดทำกฎหมายลำดับรอง ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562-สำนักข่าวไทย.

ดีป้าปลุกกระแสเมืองอัจฉริยะ

กรุงเทพฯ 7 ต.ค. ดีป้า จับมือพันธมิตรจัดงาน Thailand Smart City Week 2020 โชว์เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ​นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร Techsauce, Huawei และFutureTales Lab by MQDC จัดงาน Thailand Smart City Week 2020 มหกรรมแสดงเทคโนโลยีด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในรูปแบบ Real Digital Event ครั้งแรกของประเทศไทยขึ้นระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคม 2563 ภายใต้แนวคิดREAL Solutions for REAL People in the REAL Smart Cities “ดีป้า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกระดับเมืองอัจฉริยะให้เป็นเมืองน่าอยู่มากที่สุด ซึ่งงาน Thailand Smart City Week 2020 มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความตระหนักรู้ พร้อมมอบประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในมิติต่าง ๆ แก่ประชาชน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการจุดประกายให้ผู้นำเมืองสร้างสรรค์แนวทางการจัดการเมืองในแต่ละด้านอย่างตรงจุด มีเวทีสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดโอกาสประชาชนร่วมค้นหาโซลูชันในการแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง รวมถึงพื้นที่สำหรับการเจรจาทางธุรกิจ ซึ่งประชาชนยังสามารถสัมผัสและเข้าถึงกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้จากทั่วทุกภูมิภาค ตอบรับชีวิตวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) โดย ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า Thailand Smart City Week 2020 จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งเมืองอัจฉริยะประเทศไทยอยู่ไม่ไกลเกินคิดอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว สำหรับกิจกรรมภายในงาน Thailand Smart City Week 2020 ประกอบด้วย Smart City PLAYS การสาธิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อจัดแสดงนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมในมิติต่าง ๆ โดยความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มาพร้อมเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CU Smart City) มหาวิทยาลัยศิลปากร กับ Flower Labs ย่านปากคลองตลาด และCreator Space ชั้น 6 True Digital Park ฯลฯ ทั้งหมดเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนได้สัมผัสประสบการณ์เมืองอัจฉริยะที่อยู่ใกล้ตัว ​Smart City LEARNS การอบรม แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านคอร์สอบรม และการสัมมนาออนไลน์ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Smart City Thailand Office เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมต่อยอดการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ (Lifelong Learning) […]

เคบีทีจีตั้งเป้าเป็นบริษัทเทคใหญ่สุดของไทยในปี68

กรุงเทพฯ 7 ต.ค. เคบีทีจีชูวิสัยทัศน์ Beyond The Future Day 2020 ย้ำผู้นำไฟแนนเชียลเทคฯ ตั้งเป้าปี 68 เป็น บริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในไทย นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกรบิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า โควิด -19 ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ที่แตกต่างจากอดีต เคบีทีจีทำทรานส์ฟอร์เมชั่นครั้งสำคัญที่สุดภายใต้แนวคิด“ วันเคบีทีจี “(One KBTG) โดยมีแกนสำคัญในการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรการปฏิรูปกระบวนการทำงานและการให้พนักงานมีส่วนร่วมเพื่อผลักดันให้เคบีทีจีเป็น บริษัท เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาให้ประเทศรอดจากวิกฤตจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีความคุ้นเคยกับดิจิทัลมากขึ้นสะท้อนจากธุรกรรมซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าผู้ใช้โมบายแบงกิ้งมีอายุมากขึ้นเฉลี่ย 40-50 ปีจากเดิม 25-39 ปีทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งาน K + ราว 14 ล้านคนคาดว่าจะมียอดทำธุรกรรมทำสถิติกว่า 20,000 ล้านรายการในปีนี้รวมถึงการร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรเพื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมทางการเงินในทุกอุตสาหกรรม สำหรับแอปพลิเคชันขุนทองมีลูกค้าดาวน์โหลดแล้ว 500,000 ราย แอป Make ดาวน์โหลดแล้ว 20,000 ราย แอปEatable 10,000 รายและมีพันธมิตรใช้ Contactless Technology 20 ราย โดยล่าสุดได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเปิดตลาดทุนแบบใหม่ในประเทศไทยที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนและลงทุนในผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มใหม่ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเคบีทีจีต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผ่าน 3 แกนหลักคือ 1. เพื่อให้ลูกค้าทุกรายสามารถทำธุรกิจต่อได้ทำให้คนรู้จักออมเงินลงทุนและซื้อประกันซึ่งเป็นเสาหลัก 2. ทำให้เกิดสมดุลทางการเงินของชีวิตและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้มากที่สุดเพราะมีเงินสะสมนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนเพื่อที่จะเกษียณได้3. เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจธนาคารแบบเดิมเป็น บริษัท เทคโนโลยีที่จะนำนวัตกรรมออกไปให้กับทุก ๆ คนได้ใช้ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหนหรือทำธุรกรรมรูปแบบใด  “อนาคตถูกร่นเวลาด้วยการระบาดของโควิด-19 เคบีทีจีต้องการเร่งการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลด้วยการมองไปไกลนำหน้าอนาคตหนึ่งก้าว และไม่หยุดเฉพาะในประเทศไทย” นายเรืองโรจน์ กล่าวอีกว่า เคบีทีจีได้ตั้ง Development Hub ขึ้นใน 3 ประเทศคือไทยเวียดนามและจีนเพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีได้ทันกับโครงสร้างการให้บริการของธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตรที่มุ่งสู่ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้นปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยประสบความสำเร็จในการให้บริการ QR KBank ในสปป. ลาวและได้ขยายบริการจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปที่สะหวัดนะเขตเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการแล้ว 70,000 รายคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 200,000 รายสำหรับในเมียนมาได้ร่วมกับเอยาวดีฟาร์มเมอร์ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์หรือเอแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมลงทุนเตรียมนำแอปพลิเคชันเคพลัสไปพัฒนาใช้ในเมียนมาในชื่อ A + ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยจนเป็นแอปฯ การเงินอันดับหนึ่งในขณะนี้ ส่วนในประเทศจีน เคบีทีจีเปิด K-TECH ที่เมืองเซินเจิ้นประเทศจีนโดยมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวนเรียบร้อยแล้วตั้งเป้าจะรับพนักงานประมาณ 300 คนโดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการทางเงินสำหรับธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนและประเทศอื่นและพันธมิตรโดยธนาคารกสิกรไทยในจีนมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายย่อยในการปล่อยสินเชื่อบุคคลซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีช่องว่างในลักษณะที่เป็น Digital Lending-สำนักข่าวไทย.

กสทช.เผยมูลค่าตลาดทีวีไทยปี62แตะ3.8หมื่นล้านบาท

กรุงเทพฯ 6 ต.ค.กสทช. ร่วมกับจุฬาฯ  เผยแพร่ผลการสำรวจมูลค่าตลาดกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย ปี 2562 แตะ 3.8 หมื่นล้านบาท นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าผลจากการศึกษามูลค่าตลาดกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย ปี 2562 โดยการศึกษาของสำนักงาน กสทช. ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มูลค่าตลาดกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ38,404.89 ล้านบาท โดยแบ่งกิจการโทรทัศน์ใช้คลื่นความถี่ ในส่วนที่เป็นบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล มูลค่าประมาณ 23,761.68 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 61.8 และกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่น บริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายเคเบิล บริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายดาวเทียมและบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต มูลค่าประมาณ 14,643.20 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 38.13 ผลจากการวิจัยทั้งในส่วนของการศึกษามูลค่าตลาดและการประมาณการณ์จะเป็นแนวทางในการวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันของตลาดกิจการโทรทัศน์ซึ่งจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ต่อไปในอนาคต สนใจสามารถศึกษาผลการศึกษาดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ www.nbtc.go.th

รายงานพิเศษ:การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าภาครัฐเพื่อค้นหาคนจนที่แท้จริง

กรุงเทพฯ 6 ต.ค. สมุทรสงคราม โชว์ผล ใช้ระบบบิ๊กดาต้า ค้นหาคนจน วางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาแบบบูรณาการ  การค้นหาคนจนที่แท้จริง มาตรการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือภาคประชาชนที่มีความยากจน ด้วยการลงทะเบียน เพื่อให้ความข่วยเหลือตามมาตรการ เครื่องมือที่ภาครัฐนำมาแยกแยะเพื่อให้ความช่วยเหลือ ประชาชนที่มีฐานยากจน จริงๆ ได้มีการตั้ง คณะท่างานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐในประเด็น การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาระบบจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ระบบที่พัฒนาต่อยอดมาจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform)โดยใช้ข้อมูลจำเป็นพื้นฐานของกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียน สวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง และใช้วิธีการประมวลข้อมูลเพื่อดูความยากจนในหลายมิติ โดยสศช. ได้น่ามาปรับใช้กับประเทศไทย ให้สามารถครอบคลุมปัญหาที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย โดยยังคงความสามารถของระบบเดิมในการชี้เป้าความยากจนไว้ด้วย  ระบบ TPMAP สามารถใช้ระบุ ปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น / ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจน รายประเด็น ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และสามารถออกแบบนโยบายโครงการ ในการแก้ปัญหา ให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้ สามารถระบุได้ว่าคนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหา ในมิติอะไรบ้าง หลักการท่างานของ TPMAP คืออาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน ใช้สมมติฐานว่าคนที่ได้รับการส่ารวจว่าคนจน เป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน TPMAP จึงตั้งต้นโดยใช้ข้อมูล ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จากกระทรวงการคลัง มายืนยันซึ่งกันและกัน หรืออีกนัยหนึ่ง “คนจนเป้าหมาย” ใน TPMAP คือคนจน ใน จปฐ. ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐTPMAP สามารถวิเคราะห์ข้อมูลคนจนจาก หลายแหล่งซึ่ง Data Integration ท่าให้ทราบข้อมูล คนจนที่ใกล้เคียงกับความจริงที่สุด สามารถระบุได้ว่า “คนจนเป้าหมาย” มีปัญหาอะไรบ้างในแต่ละมิติจากข้อมูลจำนวนคนในครัวเรือนยากจน ที่ตกตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในแต่ละมิติ โดยตัวชี้วัด จปฐ. ที่น่ามาใช้ในการคำนวณดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) สามารถระบุกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน ได้รวดเร็ว และชัดเจนมีรายงานเชิงแผนที่ แสดงความยากจนใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ และด้านการเงิน ประกอบด้วย ข้อมูลด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ TPMAP สามารถเปรียบเทียบข้อมูลปีต่อปี ทำให้เห็นสภาพปัญหาว่ามีทิศทางปรับลดหรือรุนแรง มากขึ้นเพียงใด ซึ่งสามารถนำมาใช้ประเมินปัจจัยที่อาจส่งผลต่อปัญหาดังกล่าว หรือประเมินประสิทธิภาพของ นโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาตรงจุด และเลือกนโยบายได้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้ก่าหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถ ออกนโยบายและปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยในอนาคต TPMAP จะผนวกรวมข้อมูลจากมิติอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้การวิเคราะห์ครอบคลุมและแม่นยำขึ้น ปัจจุบันมีการนำเสนอระบบ TPMAP แก่ส่วนราชการ หลายจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างฐานข้อมูลคนจนที่ถูกต้องในแต่ละจังหวัดก่อนที่จะให้หน่วยราชการในจังหวัด ๆนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างการดำเนินการที่จังหสัดสมุทรสงคราม นายชรัสบุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ผลจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ได้ใช้กำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัด ข้อมูล TPMAP พบว่าจังหวัดสมุทรสงครามมีคนจนที่จะต้องดำเนินการแก้ไขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 65 ครัวเรือน 850 คน การดำเนินงานจึงเน้นหลักการมีส่วนร่วมและการบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาความยากจนจึงได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนงานโดยนำระบบ IPMAP Logbook (แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย) ซึ่งเนคเทคได้พัฒนาจากระบบ IPMAP และออกแบบเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบูรณาการและความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาสามารถบันทึกปัญหาความต้องการและความช่วยเหลือของหน่วยงานได้รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่มีข้อมูลตั้งต้นที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลลดความซ้ำซ้อนสามารถติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วยกระดับคุณภาพชีวิต-สำนักข่าวไทย.

เผยแนวโน้มหุ่นยนต์ทางการแพทย์กำลังได้รับความนิยมเพราะคนเลี่ยงการสัมผัส

กรุงเทพ 6 ต.ค. ผู้เชี่ยวชาญชี้ โควิด-19 ทำให้หุ่นยนต์ทำงานกับระบบสุขภาพ ได้รับความสนใจ เชื่อ 5 ปี โตถึงร้อยละ 34  นายดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าผู้ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียของบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ “โคบอทส์” หุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคส่วนสุขภาพทั่วโลกหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน เติบโตเร็วที่สุดในภาคส่วนอุตสาหกรรมหุ่นย์โคบอทส์”(Collaborative robots: Cobost) ได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์  โดยมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ระดับโลกกับ โควิด -19  การปรับใช้โคบอทเพื่อรับมือกับภาวะการระบาด เช่น การดูแลสุขภาพการทดสอบทางการแพทย์ การจัดการด้านสุขอนามัย การฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการผลิตและทำให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น “การระบาดของ โควิด – 19  ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ บริษัททั่วโลกและในสิงคโปร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวเพื่อรับมือกับความเป็นจริงใหม่นี้ให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานก็กำลังได้รับการส่งเสริมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับขั้นตอนการปฏิบัติงานในมาตรฐานใหม่ ซึ่งรวมถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพและการสัมผัสกับมนุษย์ให้น้อยที่สุด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์หรือหุ่นยนต์ร่วมปฎิบัติงาน ที่เรียกว่า “โคบอทส์” ถูกวางตัวให้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้” การลดการติดต่อของมนุษย์และการปกป้องผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จาการติดเชื้อ ทำให้แอปพลิเคชันด้านโคบอทในด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและออกมาให้เห็นทั่วโลกในปีนี้  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University: NTU) ในสิงคโปร์ใช้โคบอท5 ตัว ที่มาพร้อมหัวฉีดพ่นระบบไฟฟ้าสถิตและติดตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มแบบเคลื่อนที่ได้ โดยโคบอทถูกตั้งโปรแกรมให้เลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์เพื่อให้สามารถเข้าไปยังบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น ใต้เตียงและใต้โต๊ะ ทางบริษัทผู้ผลิตได้พัฒนาหุ่นยนต์ป้ายลำคอตัวแรกของโลกขึ้นภายใต้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก (University of Southern Denmark: SDU) หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้แขนโคบอท ยูอาร์ 3 (UR3)  ที่ติดตั้งพร้อมกับปลายแขนกลซึ่งสามารถออกแบบและสร้างขึ้นได้ตามต้องการโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยโคบอทส์รุ่นนี้ช่วยให้กระบวนการตรวจป้ายลำคอสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในเวลา 7 นาทีและใช้เวลาเพียง 25 วินาทีในการล้างทำความสะอาดตัวเอง บริษัท เบรน เนวี่ ไบโอเทคโนโลยี ประเทศไต้หวันได้พัฒนาหุ่นยนต์เก็บตัวอย่างอัตโนมัติด้วยวิธีการล้วงเข้าไปในโพรงจมูกตัวแรกของโลกโดยใช้โคบอท ยูอาร์ (UR)    โคบอทรุ่นนี้สามารถจดจำโครงสร้างใบหน้าของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถระบุตำแหน่งของโพรงจมูก ถือไม้ป้ายโพรงจมูก (ลักษณะเหมือนไม้พันสำลีแบบยาว) โดยใช้มือหุ่นยนต์จับ แล้วแทงไม้ป้ายเข้าไปในช่องจมูกของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติและค้างอยู่ประมาณ 10 ถึง 25 วินาทีเพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างสารคัดหลั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาดำเนินการเพียง 2-5 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้สามารถเก็บตัวอย่างได้เกือบ 100 คนภายในเวลา 8 ชั่วโมง กระบวนการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์ จะมีก็เพียงแค่ขั้นตอนการตั้งค่าการสแกนตำแหน่งใบหน้าเริ่มต้นเท่านั้นที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ยืนอยู่หลังแผงป้องกัน ทั้งนี้ หุ่นยนต์ป้ายลำคอและโพรงจมูกจะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วยการลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อ ณ จุดที่ทำการทดสอบ ตลาดของหุ่นยนต์โคบอทมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลกในปี 2561 แต่ ณ ปัจจุบันโคบอทส์กลับมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วสูงสุดในภาคส่วนของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทั้งนี้เป็นที่คาดกันว่า ภายในปี 2568 อัตราการเติบโตของโคบอทจะก้าวกระโดดจากที่จำกัดแค่ในตลาดเฉพาะทางไปเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลก-สำนักข่าวไทย.

เผยธปท.ขายพันธบัตรบนแพลตฟอร์มบล็อกเชนแล้ว 5 หมื่นล้านบาท

กรุงเทพฯ 6 ต.ค. ไอบีเอ็ม เผยธนาคารแห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทภายในสองสัปดาห์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็มประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้กระบวนการออกพันธบัตร ที่เกี่ยวข้องกับผู้ออกพันธบัตร ผู้จัดจำหน่ายนายทะเบียน และนักลงทุน รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในอีโคซิสเต็ม มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ช่วยให้แพลตฟอร์มพันธบัตรรัฐบาลเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งเดียวที่ให้ข้อมูลเรียลไทม์ที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้แก่ทุกฝ่ายที่อยู่ในเครือข่าย อีกทั้งยังช่วยลดกระบวนการการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกระทบยอดบัญชี นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถซื้อพันธบัตรเต็มสิทธิ์ได้ที่ธนาคารเดียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานแปดแห่ง ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และธนาคารตัวแทนจำหน่าย ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทยธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนและแพลตฟอร์มคลาวด์ของไอบีเอ็มรองรับ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลสร้างประโยชน์และคุณค่าในเชิงธุรกิจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ลงทุนได้รับพันธบัตรรวดเร็วขึ้น ลดประมาณงานและระยะเวลาในการดำเนินการของผู้ออกพันธบัตร ผู้จัดจำหน่าย นายทะเบียน อีกทั้งยังเพิ่มความโปร่งใสและลดต้นทุนการดำเนินการตลอดกระบวนการ  “ความสำเร็จของโครงการพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารแห่งประเทศไทย ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถพลิกโฉมการดำเนินงานของธุรกิจ ผ่านกระบวนการที่ลดความซับซ้อน และทำให้ความร่วมมือของหน่วยงานหลายฝ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น โปร่งใสขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทยกล่าว “ไอบีเอ็มมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้นำแพลตฟอร์มบล็อกเชนระดับโลกและไอบีเอ็มคลาวด์เข้าสนับสนุนธนาคารแห่งประเทศไทยและมีส่วนร่วมทำงานเคียงข้างสู่ไมล์สโตนความสำเร็จครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการเงินไทย” ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะขยายการใช้บล็อกเชนเพื่อรองรับพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลทุกประเภท ทั้งสำหรับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและกลุ่มนักลงทุนสถาบันแบบ wholesale ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ โดยมีอีโคซิสเต็มทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความเคลื่อนไหวร่วมมือต่อเนื่อง ในปี 2562 แพลตฟอร์มหนังสือค้ำประกันโดยบีซีไอได้เริ่มเปิดใช้งานจริง โดยมีธนาคาร 22 แห่งและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 15 รายเข้าร่วม โดยปัจจุบันรองรับการทำหนังสือค้ำประกันมูลค่าประมาณ 9.5 พันล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานราชการลำดับที่สองในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเทรดเลนส์ (TradeLens) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการค้าโลกบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย ให้กับการขนส่งทางเรือทั้งในและระหว่างประเทศ โดยยังมีโครงการนำร่องและการเตรียมนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจการเงิน ประกันภัย และภาครัฐ ที่กำลังจะเปิดตัวอีกหลายโครงการ ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่ามูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ เดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่าประมาณ13.304 ล้านบาท โดยพันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าสูงสุดในตลาด ด้วยมูลค่า 4.947 ล้านบาท เท่ากับ ร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย การขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และใช้เวลามาก ผ่านระบบที่ไม่สามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์ มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ซ้ำซ้อนและการกระทบยอดบัญชีแบบแมนวลที่เสี่ยงต่อความผิดพลาดของข้อมูล -สำนักข่าวไทย.

เผยกสทช.มีแนวคิดคุมค่าบริการมือถือนอกโปรโมชั่น

กรุงเทพฯ 5 ต.ค. กสทช. มีแผนคุมค่าบริการมือถือนอกโปร เปิดรับฟังความเห็นถึง 19 ต.ค. นี้ ผู้สื่อข่าวรายงาน การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลักหรืออัตราค่าบริการนอกโปร ตั้งเป้าคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ถูกคิดค่าบริการนอกโปรในอัตราที่สูงเกินควร รวมทั้งลดผลกระทบจากปัญหา Bill Shock ผู้บริโภค-นักวิชาการต่างประสานเสียงเห็นด้วยในหลักการที่ กสทช. ต้องกำกับดูแล แต่กังขาว่าค่าบริการที่กำหนดนั้นยังคงสูงเกินไป และผู้ให้บริการอาจผลักภาระทำให้ค่าบริการในโปรแพงขึ้น สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดค่าบริการนอกโปรได้ไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของค่าบริการ ดังนี้ บริการเสียงไม่เกิน 1.60 บาท/นาที บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 2.50 บาท/ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 4.50 บาท/ข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.90 บาท/เมกะไบต์ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งหมายความว่ารายการส่งเสริมการขายที่กำหนดขึ้นใหม่หลังวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ค่าบริการนอกโปรจะต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงดังกล่าว ขณะที่รายการส่งเสริมการขายใดที่มีการกำหนดราคานอกโปรเกินกว่าอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ก็ยังสามารถเรียกเก็บค่าบริการต่อไปได้จนกว่าระยะเวลาตามสัญญาของรายการส่งเสริมการขายนั้นสิ้นสุด ส่วนรายการส่งเสริมการขายที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการให้บริการไว้ ก็สามารถเรียกเก็บได้ไม่เกิน 270 วันนับแต่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ นายโสภณ หนูรัตน์ ผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เห็นด้วยที่ กสทช. ต้องกำกับอัตราค่าบริการนอกโปร และควรต้องกำกับในทุกบริการ อย่างไรก็ตาม โดยหลักการของการคิดค่าบริการในโปร ผู้ให้บริการก็คิดรวมทั้งต้นทุนและกำไรไว้อยู่แล้ว การคิดค่าบริการนอกโปรก็ควรอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ไม่ควรมีราคาที่แตกต่างกันมาก และต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักด้วย และที่สำคัญการกำกับอัตราค่าบริการนอกโปรของ กสทช. ต้องไม่ทำให้ค่าบริการในโปรแพงขึ้น เพราะจะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคมากขึ้น นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของร่างประกาศเพื่อต้องการลดกระทบจากปัญหา Bill Shock แต่อัตราที่กำหนดในร่างประกาศยังคงเป็นอัตราที่สูง อย่างเช่นอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตนอกโปรที่จะคิดราคา 0.90 บาท/เมกะไบต์ หากเดือนไหนผู้บริโภคใช้หลุดโปรแค่ 1 กิกะไบต์ (Gb) ประมาณดูละครได้ 1 ตอน ก็เท่ากับต้องเสียค่าบริการเพิ่มถึง 900 บาท และในอนาคตที่เรากำลังเข้าสู่ยุค 5G ปัญหาการหลุดโปรก็จะเกิดง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีเรื่องการคิดค่าบริการผู้ให้บริการต้องอยู่ได้คือเป็นการสร้างสมดุคทั้งฝั่งผู้ใช้และผู้ให้บริการเรื่องค่าบริการถ้าถามประชาชนก็จะอยากได้ถูกอย่างเดียวแต่ในแง่การลงทุนของผู้ประกอบการมีต้นทุนของธุรกิจจากการประมูลคลื่นความถี่ และการขยายเครือข่ายที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มจำนวนมากย่อมมีความคาดหวังในการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงควรกติกาที่ทุกฝ่ายพอใจและสร้างสมดุลให้ผู้ใช้บริการไม่เป็นภาระผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับประโยชน์ของผู้บริโภคโดยตรง โดยสำนักงาน กสทช. จะยังเปิดรับความคิดเห็นเพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ผู้บริโภคสามารถนำส่งความเห็นมาได้ที่อีเมล์ telco.tariff@nbtc.go.th ตั้งชื่อเรื่อง “แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก” รวมทั้งสามารถนำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ที่สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. 87 ซอยพหลโยธิน 8 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 วงเล็บมุมซองว่า “แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก”-สำนักข่าวไทย.

ไอดีซีชี้ตลาดสมาร์ทโฟนไทยกระทบโควิด-19ยันยังโตต่อจากยอดจำหน่ายออนไลน์

กรุงเทพฯ 5 ต.ค.ไอดีซีชี้ ตลาดสมาร์ทดโฟนไทยโตลดลง ระบุแม้มีโควิด-19 แต่ไม่กระทบการเติบโต นายธีริทธิ์ เปาวัลย์ นักวิเคราะห์การตลาด บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลดาต้าคอเปอเรชั่น (ไอดีซี) ผู้วิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ รายงานผลการวิจัยตลาดสมาร์ทโฟนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ระบุว่า ปกติไตรมาสที่สองของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟน การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ยับยั้งการเติบโตเพราะบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสามารถปรับตัวใช้ช่องทางออนไลน์ได้อย่างกว้างขวางมาขึ้น มีการส่งเสริมการตลาดมากขึ้น ทำให้การขายทางหน้าร้านแทนจะเหมือนเดิมเมือ่เทียบกับไตรมาสที่แล้วในขณะที่ช่องทางออนไลน์โตขึ้นเกือบ 4 เท่า แบรนด์สมาร์ทโฟนและค่ายโทรคมนาคมปรับตัวต่อการหยุดชะงักของหน้าร้านโดยเปลี่ยนไปทำกิจกรรมการขยาย การตลาดผ่านล่องทางออนไลน์ ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ผ่านเว็บไซต์ทางการและมาร์เก็ตเพลสรวมถึงการโปรโมชั่นผ่านโซเชียลมีเดียอื่น สมาร์ทโฟนเช่น ออปโป้ เอ12 เสียวหมี่ เรดหมี่โน้ต 9 และหัวเว่ยวาย5พี ได้กระแสตอบรับที่ดีด้วยราคาที่น่าดึงดูดอย่างไรก็ตามมือถือในช่วงราคากลางถึงสูงมีการเติบโตขึ้นเนื่องจากซัมซุงเอ71 และแอปเปิลไอโฟนเสอีที่ได้รับกระแสตอบรับดี ขณะที่ตลาดสมาร์ทโหนในไทยเริ่มฟื้นตัว ไอดีซีคาดว่ายอดขายในไตรมาสที่ 3 ยังคงลดลงเนื่องจากเป็นฤดูกาลที่ความต้องการต่ำและความกดดันทางเศรษฐกิจยังคงมีผลต่อความต้องการในตลาดต่อไปอีก 2-3 เดือน อย่างไรก็ตามไตรมาสที่ 4 คงได้เห็นการโตของไอโฟนรุ่นใหม่ การเปิดสาขาของแอปเปิลสโตร์ในประเทศไทย เป็นการส่งเสริมโมเมนตัมของไอโฟนที่แข็งแรงอยู่แล้ว ในขณะที่ร้านค้าเริ่มกลับมาเปิดปกติหลังมาตรการล็อกดาวน์ การเปลี่ยนแปลงช่องทางการขยายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็เริ่มกลับมาเปิดปกติหลังการล็อกดาวน์ การเปลี่ยนแปลงของช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็เริ่มกลับมาเป็นปกติหลังจากออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่งมากในไตรมาสที่ 2   ทั้งนี้ภาพรวม 5 แบรนด์ที่ครองสัดส่นการตลาด 5 อันดับแรก คือ อันดับหนึ่งวีโว่ ที่ครองอันดับหนึ่งเพราะเน้นไปที่สมาร์ทโฟนรุ่นกลาง ซัมซุง ยังคงเป็นผู้นำตลาดลำดับสองที่ทำตลาดด้วยกาแลคซี่ รุ่นเอ ออปโป้ ที่เสียอันดับหนึ่งในไตรมาสที่สองเรืองจากราคาขึ้ในบางช่วงรุ่นที่เปิดตัวใหม่ เรียลมี มาแทนที่หัวเว่ยในอันดับ 4 มือถือรุ่นเล็กยังคงได้รับการเตอบรับ และการเสริมสร้างภาพลักษณ์กับ 5G แอปเปิ้ล ยงครองอันดับ 5 เนื่องจากไอโฟนเอสอี ที่ด้รับความนิยมในช่วงโควิด–19  โดยไอโฟน11ยังคงเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุด -สำนักข่าวไทย.

1 22 23 24 25 26 51
...