สถานการณ์ไฟไหม้โรงงานเริ่มดีขึ้น

ชุมชนคลองปากน้ำ ต.บางพลีใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงานที่เกิดเหตุเพียง 200 เมตร พบว่ามีบ้านเรือนเสียหายนับสิบหลัง วันนี้ชาวบ้านหลายคนกลับเข้ามาซ่อมแซมบ้านที่เสียหายจากแรงระเบิด โดยเฉพาะบริเวณหลังคา และฝ้าเพดาน ที่พังถล่มลงมาในคืนเกิดเหตุ หลายคนบอกว่า แม้จะยังกังวลกับสถานการณ์ไฟไหม้โรงงาน แต่เป็นห่วงบ้าน กลัวทรัพย์สินจะสูญหาย และยังกังวลว่าถ้าฝนตกจะทำให้ข้าวของเสียหายไปมากกว่านี้ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วจึงกลับเข้ามาเพื่อทำการซ่อมแซม ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

ฮ.ปฏิบัติการใช้โฟม-สารเคมี เป็นระยะ ฉีดน้ำลดอุณหภูมิ

หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานในซอยกิ่งแก้ว 21 ล่าสุดสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว หลังเจ้าหน้าที่ปิดวาล์วในบ่อสารเคมี และระดมรถโฟมดับเพลิงขนาดใหญ่ เข้ามาดับไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวังและแข่งกับเวลา รวมทั้งไฟที่ยังมีโอกาสปะทุขึ้นอีกได้.เฮลิคอปเตอร์บินขึ้น ปฏิบัติการใช้โฟมและสารเคมีในการดับไฟ อยู่เป็นระยะๆ และยังต้องฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ แม้จะปิดวาล์วถังสารเคมีได้แล้วแต่ก็ยังขอความร่วมมือให้ประชาชน ที่บ้านในรัศมีใกล้เคียงกับโรงงาน อยู่ที่ศูนย์อพยพเพื่อความปลอดภัยก่อน จนกว่าจะมีการประกาศแจ้งให้กลับเข้ามาได้.ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

ควบคุมเพลิงไหม้โรงงานในซอยกิ่งแก้ว

ช่วงเวลาประมาณ 15.21 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง KA-32 ร่วมสนับสนุนโปรยโฟมดับไฟบนโรงงานหมิงตี้ เคมิคอล บริเวณซอยกิ่งแก้ว 21 ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา โดยก่อนจะมีการบินมาโปรยโฟมได้มีการประสานให้เจ้าหน้าที่ที่กำลังควบคุมเพลิงอยู่บริเวณโรงงานให้ออกมานอกพื้นที่ จากนั้นเฮลิคอปเตอร์จึงบินมาโปรยโฟมเหนือบริเวณจุดที่เกิดไฟไหม้เป็นจำนวน 10 เที่ยว ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้

บ้านเรือนประชาชนโดยรอบได้รับความเสียหาย จากเหตุโรงงานโฟมระเบิดไฟลุกท่วมในซอยกิ่งแก้ว ลุงประยูร แย้มชม เจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหายเล่าให้ฟังว่า บ้านเพิ่งสร้างเสร็จและเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ได้แค่เดือนเดียว ตอนนี้บ้านได้รับความเสียหายอย่างมากจากแรงระเบิด ห้องนอนสามห้องฝ้าเพดานหลุดหมด ห้องครัวก็พัง ประตูหน้าต่างก็ได้รับความเสียหายทั้งหมด คงจะต้องรื้อและทำใหม่ ตอนนี้ก็ได้แต่กลับไปอยู่บ้านเดิม และรอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมารับผิดชอบ ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

ยังคุมไม่ได้ เร่งอพยพชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ออกให้ห่างพื้นที่เกิดเหตุ

นับแต่เกิดเหตุ ยังมีกลุ่มควัน พวยพุ่งออกไปเป็นบริเวณกว้าง ทิศทางของลมพัดไปทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากสนามบินประมาณ 2 กิโลเมตร.ถนนกิ่งแก้วรถติดยาวเหยียดทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งยังคงมีรถกู้ภัยและ รถเจ้าหน้าที่ และรถพยาบาล ทยอยเข้ามาสมทบเป็นระยะ.นายวรภพ แสงเดือน หัวหน้าครูฝึกอาสมัคร กทม. เจ้าหน้าที่กู้ภัย เผยว่า ขณะนี้กำลังจะถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด สถานการณ์ขณะนี้ควบคุมไม่อยู่หวั่นจะเกิดระเบิดซ้ำ ประสานรถโฟมจากกรุงเทพมหานครเข้ามาควบคุมสถานการณ์ และต้องกลับมาวางแผนใหม่อีกครั้ง ตัวเลขล่าสุดมีนักผจญเพลิงได้รับบาดเจ็บกว่า 11 ราย บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 70 หลังคาเรือน มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง.ด้าน อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนประชาชนให้ระวังควันพิษจากเหตุระเบิด เพราะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ..ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

ชุมนุมกิจกรรม Car Mob ถ.ราชดำเนิน

สถานการณ์การชุมนุมกิจกรรม Car Mob ที่มีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นแกนนำผู้ชุมนุมได้มีการนำรถยนต์หลากหลายประเภทและยี่ห้อมาจอดต่อกัน 3 ช่องทาง บนถนนราชดำเนินบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยาวไปจนเลยสี่แยกคอกวัว ก่อนพร้อมใจกันขับรถยนต์เข้าวนรอบวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมบีบแตรยาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลต่อเนื่องนานกว่า 10 นาที ก่อนจะวนรถกลับมามาบีบแตรแสดงสัญลักษณ์เป็นรอบที่ 2 ก่อนผู้ร่วมกิจกรรมจะนำรถขับออกจากวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเข้าร่วมกับขบวนแท็กซี่ของกลุ่มไทยไม่ทนที่สี่แยกผ่านฟ้าลีลาศ ที่จะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเวลา 18.30 น. โดยผู้ชุมนุมได้ร่วมกันบีบแตรรถยนต์ไปตลอดทาง ก่อนพบกับแนวกำลังตำรวจบริเวณเชิงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ ก่อนมีการเจรจาขอเปิดทางให้ผู้ชุมนุมได้เดินมุ่งหน้าไปยังสามแยกนางเลิ้ง และเชิงสะพานชมัยมยุรเชฐได้อย่างเรียบร้อยปราศจากความรุนแรง จากนั้นกลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้เดินเท้านำมวลชนเข้าสู่พื้นที่การชุมนุม เพื่อขึ้นปราศรัยกับผุ้ชุมนุมบริเวณดังกล่าว ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกิจกรรมคาร์ม็อบ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ผู้ชุมนุมขับรถเปลี่ยนเส้นทางไปยังสี่แยกราชประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมบีบแตรแสดงสัญลักษณ์ต่อก่อนให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกัน.-สำนักข่าว ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

สธ.เปิด “ไอซียูสนาม” มทบ.11

(2 ก.ค.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิด “ไอซียูสนาม” โรงพยาบาลสนามกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 11 ถ.แจ้งวัฒนะ สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ที่มีอาการสีเหลือง 120 เตียง และสีแดง 58 เตียง ติดตั้งระบบต่างๆ เหมือนโรงพยาบาลบุษราคัม มีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ดูแล เริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ภาพ : ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

“โควิด” พรากชีวิต-ไร้เสียงแห่งการร่ำลา

“โควิด-19” โรคอุบัติใหม่ที่ใครหลายคนไม่คาดคิด ว่าต้องใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปยาวนานนับปีกว่า มิหนำซ้ำหากใครติดเชื้อโควิด ต้องแยกจากคนในครอบครัวเพื่อไปรักษาตัว โดยที่ใครก็ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ต้องนับวันรอคอยประคับประคองอาการให้หายดีจนได้กลับบ้าน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรักษาได้ เพราะไวรัสตัวร้ายคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก.การจากที่ไม่ได้ร่ำลาคือความเศร้าที่ยากจะทำใจ การเสียชีวิตจากโควิด-19 โหดร้ายเกินไปสำหรับทุกครอบครัว การจัดงานศพไม่สามารถทำได้อย่างที่เคยปฏิบัติ.กองทัพบก เป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือจัดการ ฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมถึงการเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลไปยังวัด ลดภาระให้ครอบครัวที่เดือดร้อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้สถานที่ฌาปนสถานของกองทัพบก ได้แก่ วัดอาวุธวิกสิตาราม, วัดโสมมนัสวรวิหาร, วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต.ทั้งนี้ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เดือดร้อน หรือประสบปัญหาในการจัดการศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือการขนส่งเคลื่อนย้ายศพ สามารถประสานขอรับการสนับสนุน ผ่านศูนย์ประสานงานต้านโควิด-19 ทบ. ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2270-5685-9.ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิชเรื่อง กมลเนตร นวลจันทร์

แบ่งปันกันในยามทุกข์ยาก

ในแต่ละวัน “ไหม อรณัชชา” เจ้าของร้านอาหารย่านพญาไท จะนำอาหารมาวางไว้หน้าร้าน วันละ 20-30 กล่อง เพื่อแจกให้กับคนไร้บ้านและคนตกงาน ให้ได้อิ่มท้อง หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่สาม ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบในหลากหลายอาชีพ.เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำข้าวกล่องให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานที่คลองเตย ในช่วงการระบาดของโควิด รอบสาม โดยรวบรวมทุนจากเพื่อนๆ และคนรอบตัว แต่ตนเห็นว่าตรงคลองเตย มีคนมาบริจาคเยอะและเพียงพอแล้ว จึงตัดสินใจมาตั้งโต๊ะแจกข้าวกล่องที่หน้าร้านของตัวเอง เนื่องจากที่ร้านมีคนไร้บ้านที่ผ่านไปมา มาขออาหารทานอยู่บ่อยครั้ง.เจ้าของร้าน ยังกล่าวอีกว่า ในแต่ละวันที่บริจาคจำนวนไม่เยอะ เพราะอยากจะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนและลำบาก ให้ได้นานๆ ถ้าเป็นไปได้ก็จะทำข้าวแจก จนกว่าสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น.ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

“กีบหมู” แรงงานอิสระที่ไร้การช่วยเหลือ

ทุกวันที่แสงตะวันยังไม่ทันโผล่ขึ้นฟ้า “กีบหมู” แหล่งรวมผู้ใช้แรงงานอิสระ ช่างก่อสร้างหลากหลายสาขา ต่างมายืนรองานตั้งแต่เช้ามืดพร้อมอุปกรณ์คู่ใจ ด้วยความหวังว่าจะมีผู้ว่าจ้างมาเรียกใช้ ให้มีงาน มีเงินมาใช้หล่อเลี้ยงชีวิต แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกวัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีนายจ้างมาเรียกใช้งาน มิหนำซ้ำโควิดเจ้ากรรมยังรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงกลางปี 2564 ไม่มีทีท่าจะเบาลง ส่งผลให้ทุกชีวิตเหมือนอยู่ท่ามกลางทะเลที่มีคลื่นลมพัดมาไม่รู้จบ.เช้าวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนทุกวัน “ป้าดี” อายุ 73 ปี ชาวบุรีรัมย์ อาชีพช่างฉาบปูน ยืนถือเกรียงรออย่างมีความหวังว่าจะมีผู้รับเหมามาว่าจ้าง “ป้าดี” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ยังพอมีงานให้ได้เลี้ยงปากท้อง แต่มาโควิดรอบสาม สาหัสเพราะงานแทบไม่มี วันไหนยืนรอไม่มีผู้ว่าจ้าง “ป้าดี” จะไปเก็บผักบุ้งริมคลอง มัดเป็นกำเพื่อนำไปขาย รายได้หลัก 10 ต่อวันพอประทังชีวิต.ส่วนมาตรการเยียวยาของรัฐที่ผ่านมา ทั้ง “โครงการคนละครึ่ง-เราไม่ทิ้งกัน-เราชนะ” “ป้าดี” ไม่เคยได้รับ เพราะเป็นแรงงานนอกระบบ โทรศัพท์ไม่ใช่สมาร์ทโฟนใช้เพียงโทรเข้า-โทรออก ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี จึงเข้าไม่ถึงโครงการต่างๆ สุดท้ายกลายเป็น “คนตกหล่น” รายได้ทางเดียว คือ ใช้ฝีมือด้วยหยาดเหงื่อแลกเงินเพื่อเลี้ยงชีวิต.ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิชเรื่อง กมลเนตร นวลจันทร์

แต่งแฟนซีเพิ่มสีสัน ให้ความรู้ควบคู่ความสนุกสนาน ในการเรียน Online

การเรียนการสอนแบบ Online ของโรงเรียนสุเหร่าใหม่ ซ.อ่อนนุช 39 เขตสวนหลวง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยครูผู้สอนในแต่ละวิชาต่างแต่งชุดแฟนซี เพื่อเพิ่มสีสันในการเรียนการสอนหวังจะให้ความรู้และสร้างความสนุกสนานในการเรียนรูปแบบ Online ซึ่งนางสาววรินทร กนกวงศ์อนันต์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา บอกว่า การที่ครูแต่งชุดแฟนซีมาสอน ทำให้การเรียนดูสนุก และเพิ่มความน่าสนใจในบทเรียน ทั้งนี้ยังได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ปกครอง และนักเรียนอีกด้วย.โรงเรียนสุเหร่าใหม่ มีนักเรียนทั้งสิ้น 477 คน และมีการจัดการเรียนการสอนแบบ 3 On ได้แก่ Online On hand และ On School line โดยจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ในทุกระดับชั้น ทั้งนี้ หากสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ทางโรงเรียนได้มีความพร้อมในทุกด้าน อาทิ การเตรียมหลักสูตรสอนต่อเนื่อง การจัดตารางเรียนและจำนวนชั่วโมงสอนให้ครบเนื้อหาตามหลักสูตร และเป็นไปตามมาตราฐาน.ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

เริ่มฉีดวันแรกกลุ่มคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ณ อาคาร 9 บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก“ซิโนฟาร์ม” สำหรับกลุ่มบุคคลในองค์กรต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนระยะที่ 1 และเลือกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งมีศักยภาพรองรับการฉีดได้ถึง 5,000 คนต่อวัน // โดยนำร่องฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยะราชนารี พระราชทานแก่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวน 6,400 โดส ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 เพื่อนำไปจัดสรร ฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลเป็นกลุ่มแรกในวันนี้ สำหรับองค์กรได้ยื่นความประสงค์ ขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม ขณะนี้มีทั้งสิ้น 6,437องค์กร จำนวน 779,300 คน โดยล็อตแรก 1 ล้านโดส จะทยอยส่งให้สถานพยาบาลที่รับฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม และเริ่มกระจายฉีดให้ประชาชนในวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

1 65 66 67 68 69 94
...