กรุงเทพฯ 17 ส.ค.- กบง.ประชุมสัปดาห์หน้า สรุปมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า จากที่งวดใหม่ อัตราพุ่งขึ้น เฉลี่ยจ่ายเกือบ 5 บาทต่อหน่วย คาดใช้งบกลางฯ 7-9.5 พันล้านบาทอุ้มค่าไฟกลุ่มเปราะบาง ด้าน “สุพัฒนพงษ์” ปัดตอบ รัฐค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ 1.5 แสนล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท กล่าวเพียงว่าเรื่องนี้เป็นวาระลับ
ส่วนคำถามที่ว่าหากส่ง ส่งพ.ร.ก.ดังกล่าว ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ถ้าสภาฯไม่เห็นด้วย รัฐบาลจะทำอย่างไร นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพียงว่า มีข้อเสนอหลายวิธี
สำหรับ วาระพิจารณาลับ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ เห็นชอบออก ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ,ให้ทำสัญญากู้เงินภายใน 1 ปี หลัง พ.ร.ก.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา,แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้รักษาราคาน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้้ามันเชื้อเพลิงในประเทศพ.ศ. 2564 ขยายวงเงินกู้ยืมของกองทุนน้ำมันจาก 3 หมื่นล้านเป็น 1.5 แสนล้านบาท ,กู้เงินจากธนาคารออมสิน และอนุมัติงบกลางฯ ให้กองทุนน้ำมันบริหารอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารจัดการระหว่างที่รอ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ระบุว่า การ เป็นการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาล เพราะการที่คลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมัน เท่ากับโยนภาระหนี้ให้ประชาชน แทนที่จะหาทางเก็บภาษีจากโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นที่เรียกกันว่าภาษีลาภลอย
ผู้สื่อข่าวรายงานการกู้ยืมเงินดังกล่าวของ กองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากปฏิบัตืตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องอุดหนุนดีเซล,และก๊าซหุงต้ม เพื่อช่วยเหลือประชาชน พยุงเศรษฐกิจ จนส่งผลกองทุนฯขาดสภาพคล่อง และติดลบไปแล้ว 1.17 แสนล้านบาท โดย บมจ.ปตท. ต้องเข้ามาพยุงชั่วคราว บริจาคเข้ากองทุน 3 พันล้านบาท ในขณะที่แบงก์ต่างๆเช่นออมสิน และกรุงไทย ก่อนหน้านี้ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะรัฐไม่ค้ำประกัน
ทั้งนี้ กรณีราคาน้ำดิบตลาดโลกลดลง กระทรวงพลังงานกำลังประเมินวงเงินกองทุนน้ำมันที่อุดหนุนดีเซล-ก๊าซหุงต้มซึ่งล่าสุด วงเงินอุดหนุนลดลงเหลือ วันละราว 60 ล้านบาท หรือราว 1,800 ล้านบาท จากที่เคยอุดหนุนสูงสุดกว่า10,000 ล้านบาท/เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนกรณี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมมอบหมาย กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ช่วยเหลือลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) งวดใหม่หรืองวด 3/65 (ก.ย.-ธ.ค.65 ) ที่ปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็นนิวไฮที่ 4.96 บาท/หน่วย โดย เรื่องนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ซึ่งมี รมว.พลังงานเป็นประธานจะมีการประชุม สัปดาห์หน้า สรุปแนวทางช่วยเหลือและเสนอขอใช้งบประมาณกลางของภาครัฐมาอุดหนุนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้งบกลางฯ 7-9.5 พันล้านบาท
แนวคิดการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คือ ส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดพลังงานโดยใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด แบ่งออกเป็น 2 กรอบหลัก
1.หากบ้านใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะไม่ปรับขึ้น แต่กำลังดูรายละเอียดว่า การไม่ปรับขึ้นจะเปรียบเทียบกับงวดเอฟทีงวดใด ระหว่าง งวดแรกของปีนี้หรืองวดที่ 2 ของปีนี้ หากเทียบกับงวดแรก แล้วต้องใช้วงเงินอุดหนุนราว 6,600 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบกับงวดที่ 2 แล้วจะใช้เงินช่วยเหลือราว 4,900 ล้านบาท แต่นั่นก็หมายถึงค่าไฟฟ้าเอฟทีของคนกลุ่มนี้ก็จะขึ้นมาราว 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
2.การขยายช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในหน่วยที่ 301 -500 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเอฟทีกลุ่มนี้จะไม่ขึ้น หากเปรียบเทียบกับเอฟทีงวดที่2 ของปีนี้ ก็จะใช้เงินช่วยเหลือเพิ่มอีกราวอีก 2,900 ล้านบาท -สำนักข่าวไทย