พิจิตร 30 ก.ค. – “ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ จ.พิจิตร เดินหน้าโครงการพัฒนา “ถนน-รถไฟ-ลอกร่องน้ำ-สนามบิน” มั่นใจพัฒนาการเดินทางในภูมิภาค ส่งเสริมท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จ.พิจิตร ว่า ตามนโยบายรัฐบาลให้กระทรวงคมนาคม เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ล่าสุดได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.พิจิตร เพื่อติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดโครงการที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จ.พิจิตร โดยในส่วนของการพัฒนาโครงข่ายถนนกรมทางหลวง (ทล.) ได้มีการสร้างถนน 9 โครงการ โครงข่ายถนนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 2 โครงการ จะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2566-2568 ซึ่งได้ให้นโยบายว่า ให้เร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงบริเวณจุดคอขวดไม่ให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด
สำหรับการพัฒนาโครงข่ายถนนทางหลวง 9 โครงการ ประกอบด้วย 1. ทางหลวงหมายเลข 11 แยกอินทร์บุรี-อำเภอสากเหล็ก ตอนอำเภอทับคล้อ-อำเภอสากเหล็ก ระยะทาง 30.900 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ 41.93% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 2. ทางหลวงหมายเลข 11 อำเภออินทร์บุรี-อำเภอสากเหล็ก ตอนไดตาล-เขาทราย ตอน 3 ระยะทาง 19.523 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ 26.29% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 3. ทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร-พิจิตร ตอนตำบลบึงบัว-บ้านคลองโนน ระยะทาง 9.150 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 4. ทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร-พิจิตร ตอนบ้านเนินสมอ-สี่แยกสากเหล็ก ระยะทาง 10.860 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 25.46% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567
5. ทางหลวงหมายเลข 1067 บ้านโพทะเล-สี่แยกโพธิ์ไทรงาม ระยะทาง 11.400 กิโลเมตร (ปรับเป็นมาตรฐานทางชั้น 1) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ 1.42% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 6. โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงหมายเลข 113 ตอนเขาทราย-ฆะมัง กม.81+400-84+600 โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 30.200 กิโลเมตร ผลงานก่อสร้าง 62.55 % 7. โครงการก่อสร้างปรับปรุงแยกทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 1070 และทางหลวงหมายเลข 1289 โดยปรับปรุงทางแยกและเพิ่มมาตรฐานชั้นทางหลวง ผลงานก่อสร้าง 34.68% 8. โครงการยกระดับความปลอดภัยทางแยกขนาดใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 113 กม.81+202 (แยกศิริวัฒน์) โดยก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนผิวจราจรทางแยกเป็นผิวคอนกรีต ผลงานก่อสร้าง 82.90% และ 9. โครงการยกระดับความปลอดภัยทางแยกขนาดใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 115 กม.86+308 (แยกดงชะพลู) โดยก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนผิวจราจรทางแยกเป็นผิวคอนกรีต ผลงานก่อสร้าง 88.20%
ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 1374 บรรจบทางหลวงหมายเลข 113 ผลการก่อสร้างมีความก้าวหน้า 3.10% ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรได้ในปี 2567 และ 2. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ตำบลปากทาง อำเภอเมืองพิจิตร เพื่อเชื่อมโยงชุมชน หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลปากทาง อำเภอเมืองพิจิตร โดยก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมถนนจราจร ความกว้าง 8 เมตร ความยาว 360 เมตร ผลการก่อสร้างมีความก้าวหน้า 2.32% ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้สัญจรได้ในปี 2567
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น แผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (ปี 2560-2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (ปี 2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ซึ่งโครงการนี้จะอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และแพร่ ระยะทาง 281 กิโลเมตร ดังนั้น คมนาคมจะเร่งรัดให้ดำเนินการตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบรางใน จ.พิจิตร ซึ่งนอกจากรถไฟทางคู่ ยังมีแผนเร่งรัดพัฒนารถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ระยะทาง 2,506 กิโลเมตรด้วย ซึ่งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร และเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบกรอบรายละเอียดแล้วเสร็จ
ส่วนมิติการพัฒนาทางน้ำ จ.พิจิตร มีโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง จำนวน 8 งาน ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ ระยะที่ 1 แล้ว และเพื่อให้การพัฒนาต่อเนื่อง ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าบูรณาการกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนาโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพังทับซ้อนกัน
ส่วนการพัฒนาทางอากาศ จะเห็นว่า จ.พิจิตร อยู่ห่างจาก จ.พิษณุโลก ประมาณ 90 กิโลเมตร สามารถเดินทางใช้ท่าอากาศยานพิษณุโลกได้อย่างสะดวก ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาสนามบินพิษณุโลก เป็นงานก่อสร้างลานจอดรถยนต์ และปรับปรุงสนามบินพิษณุโลก นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการเพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิจิตร ประกอบด้วย รถหมวด 1 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 2 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 3 จำนวน 6 เส้นทาง รถหมวด 4 จำนวน 5 เส้นทาง ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่างๆ ในพื้นที่ จ.พิจิตร เสร็จสมบูรณ์ จะเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว รองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวต่อถึงแผนแม่บท MR-MAP ว่า โครงข่ายคมนาคมดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ พัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทยให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่ง MR-MAP จะดำเนินการจำนวน 10 สายทาง ระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 6,869 กิโลเมตร ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันคณะกรรมการจัดการจราจรทางบกได้เห็นชอบแผนแม่บทดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสำรวจและออกแบบในรายโครงการต่อไป ทั้งนี้ มีแนวเส้นทาง MR-MAP ที่พาดผ่านในพื้นที่ จ.พิจิตร ได้แก่ แนวเส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทางรวมประมาณ 2,125 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากเมียนมา สปป ลาว ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และมาเลเซีย ได้. – สำนักข่าวไทย