กรุงเทพฯ 27 ก.ค. – พาไปยลโฉม “รถไฟไทยทำ” รถไฟโดยสารต้นแบบใช้ชิ้นส่วนในไทยตู้แรก ยึดโมเดลเฟิร์สคลาสของสายการบิน มีนวัตกรรมใหม่ คาดแล้วเสร็จต้นปี 2566
ที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่รู้ว่า ตู้ขบวนรถไฟที่วิ่งบริการ ตู้ขบวนรถที่ผ่านมาต้องต่อจากต่างประเทศ มีทั้งจากในญี่ปุ่น และจีน แต่ล่าสุดช่างรถไฟของไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษา ได้พัฒนาการผลิตตู้รถไฟโดยสารที่เกิดประโยชน์สูงสุด ในแง่การใช้บริการ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยนายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟแห่ง ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. จัดทำโครงการวิจัยรถไฟไทยทำ หรือการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในโครงการ “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ และลดนำเข้าเทคโนโลยีโดยใช้งบประมาณในการวิจัยตัวรถ รวมแคร่ และงานระบบ ประมาณ 32 ล้านบาท ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 25 ล้านบาท และบริษัท กิจการร่วมค้าไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด 7 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบดังกล่าว เป็นการพัฒนาตู้รถไฟโดยสาร 25 ที่นั่ง โดยได้นำโมเดลการให้บริการของ First Class และ Business Class ของสายการบินมาเป็นต้นแบบ ประกอบด้วย Super Luxury Class จำนวน 8 ที่นั่ง และ Luxury Class จำนวน 17 ที่นั่ง คาดว่าการพัฒนารถไฟโดยสารฯ ครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2566 จากนั้นจะทำการทดสอบร่วมกับ รฟท. อีกประมาณ 6 เดือน นำไปให้บริการประชาชนได้ภายในปลายปี 2566 ซึ่งจากผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณมูลค่าชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 40%. -สำนักข่าวไทย