กรุงเทพฯ 21 ก.ค.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อนโยบายกัญชาเสรี มาเกือบ 2 เดือน กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งในมุมบวกและมุมลบ โดยพบว่าตื่นตัว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรี เนื่องจากกังวลถึงการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนมากที่สุด รวมทั้งก่อให้เกิดการเสพติดกัญชา
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศ ช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ถึง 75% จะไม่ซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่มีวางขายทั่วไป เพราะยังกังวลผลข้างเคียง และขาดความรู้และมาตรฐานการผลิต รวมไปถึงกลัวการใช้เกินขนาด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ 58.3% ยังไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรี เพราะห่วงการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดการเสพติด และการใช้เกินขนาดในยารักษาโรค
ส่วนอีก 41.7% ที่เห็นด้วยกับการเปิดเสรี เพราะจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสันทนาการ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และควรมีบทลงโทษที่รุนแรงเมื่อมีการทำผิดกฎในการใช้กัญชา รวมทั้งกำหนดขอบเขตของการเปิดเสรีให้ชัดเจน ขณะที่กระแสตอบรับการเปิดเสรีกัญชาในโซเชียลมีเดีย พบว่า การปลดล็อกกัญชา ในวันที่ 9 มิถุนายน คนไทยตื่นตัวสูงมาก เข้าเสิร์ชข้อมูลกัญชาในอินเทอร์เน็ตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากก่อนหน้านี้อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก ก่อนจะเสิร์ชลดลงเรื่อย ๆ และยังมีการกล่าวถึงกัญชาในโซเชียลมีเดีย เพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มอายุ 18-24 ปี ส่วนใหญ่เป็นข้อความที่แสดงความรู้สึกเชิงลบมากกว่า หลังจากมีกระแสข่าวผลกระทบเชิงลบมากขึ้น โดยเฉพาะกังวลถึงการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเช่นกัน แต่ในเชิงบวก กัญชา ถือเป็นความหวังใหม่ทางธุรกิจและประโยชน์ทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา จากการประมาณการพื้นที่เพาะปลูกกัญชง-กัญชา ล่าสุดเดือนเมษายน 2565 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท ทั้งในประเทศและส่งออก และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะโตได้ 10-15% มีมูลค่าสูงถึง 42,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนมีความกังวลเชิงลบทางสังคม แต่ไม่ปฏิเสธว่ากัญชามีประโยชน์และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกร ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเกษตรกรจะได้ประโยชน์ประมาณ 1 ใน 3 ของเกษตรกรทั้งหมด เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในต้นน้ำของธุรกิจกัญชง-กัญชา เพราะขายได้ทั้งต้น คาดว่า รายได้เฉลี่ยต่อไร่จะสูงถึง 800,000-1,200,000 ล้านบาท/ไร่/ปี จากราคากัญชาขณะนี้ที่อยู่ในระดับสูง หากเทียบกับการปลูกข้าว รายได้จะอยู่ที่หลักหมื่นเท่านั้น และส่งผลต่อเนื่องไปถึงกลางน้ำ จะเริ่มมีวิสาหกิจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเช่นกันในการทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนให้ความรู้/ทำการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพราะปลายทางจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ทำยารักษาโรค และอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย