กทม. 6 มิ.ย.- ทางกลุ่ม ปตท.ดำเนินการหลายโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่นโครงการปลูกป่ากำหนด 2 ล้านไร่ ล่าสุด ลงนามร่วมกันทั้งกลุ่ม ประกอบด้วย ปตท. ปตท.สผ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล ไทยออยล์ ไออาร์พีซี และ GPSC ตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model เพื่อร่วมให้ประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม
คุณนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิกฤติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจำเป็นต้องอาศัยการผลักดันและมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ประกอบกับเจตนารมณ์ของประเทศไทยด้านเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 กลุ่ม ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงานของประเทศ ตระหนักและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond โดยกำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของประเทศ ผ่านความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยีกลุ่ม ปตท. หรือ PTT Group Technology Committee: GTC ในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในกลุ่ม ปตท. โดยจะนำร่องศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปี และนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี
ความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ครั้งนี้ ปตท.สผ. รับผิดชอบศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. ได้เริ่มศึกษาเทคโนโลยี CCS ครั้งแรกในไทยที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทยเมื่อปี 2564 ขณะนี้ ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมมือกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศทำการศึกษา CCS ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งไปกักเก็บในชั้นหินทางธรณีวิทยาที่เตรียมไว้ได้อย่างปลอดภัย .-สำนักข่าวไทย