กรุงเทพฯ 1 มิ.ย.- กรมวิชาการเกษตรผนึกกำลังตำรวจทลายโกดังผลิตปุ๋ยและสารเคมีปลอม อายัดของกลางกว่า 10 ล้านบาท เผยพบติดฉลากอ้างชื่อเอกชนรายใหญ่หลายบริษัท เตรียมขยายผลจับกุม
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าตรวจยึดอายัดปุ๋ยเคมี รวมถึงสารพาราควอตซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และตรวจยึดอายัดวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต-แอมโมเนีย) ปลอมและวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่โกดังแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ตามการแจ้งเบาะแสของผู้หวังดีผ่านทางตำรวจ โดยผลการจับกุมครั้งนี้มี มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ได้กำชับให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและให้มีการขยายผลด้วยว่า พัวพันกับบริษัทที่มีชื่อตามที่ติดฉลากสินค้าหรือไม่ หรือเป็นการแอบอ้างฉลากทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเปิดเผยว่า สารวัตรเกษตรศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูงและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมการจับกุมพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบโกดังเลขที่ 79 หมู่ 10 ถ.เลียบคลอง ต.กระชอนอ.พิมาย จ.นครราชสีมา
จากการตรวจสอบพบว่า โกดังโรงสีเก่า มีนายไพรัตน์ ไม่ทราบนามสกุลและนายไพโรจน์ ไม่ทราบนามสกุล เป็นเจ้าของ และโกดังเป็นสถานที่ที่ไม่มีใบอนุญาตในการผลิตวัตถุอันตราย ไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายและใบอนุญาตผลิต ขาย ปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าแต่อย่างใด ต่อมาเข้าตรวจจับกุมนายณัฐวุฒิ บุญสมภพ ซึ่งขับขี่รถยนต์บรรทุกสินค้าออกมาจากโกดังดังกล่าว จึงได้มีการยึดอายัดไว้ทั้งหมด ตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และพรบ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไข ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550
ทั้งนี้ผลตรวจสอบของกลางพบว่าเป็น พาราควอต ไดคลอไรด์ซึ่งห้ามผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง สารไกลโฟเซตที่ต้องแจ้งขออนุญาต ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรปลอมหลายรายการ โดยทั้งหมดจะมีการติดฉลากยี่ห้อสินค้าของเอกชนผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นที่นิยมของเกษตรกรหลายบริษัท ทั้งนี้ยังมีสารเคมีที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหลายรายการ
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวต่อว่า สำหรับสารพาราควอตน่าจะเป็นสารที่มีการซุกซ่อนไว้ไม่นำมาแจ้งหรือส่งคืนให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายตามกฎหมายเพราะกรมได้ห้ามนำเข้าและไม่มีการอนุญาตมา 2 ปีแล้ว รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลากที่ผลิตภัณฑ์ว่าจะหมดอายุในปี 2566 น่าจะเข้าข่ายหลอกลวงเพราะกรมไม่มีการออกใบอนุญาตมา 2 ปีแล้วเช่นกัน
สำหรับการลักลอบผลิตวัตถุอันตราย ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร มีบทกำหนดโทษ ดังนี้
1. ผู้ใดผลิต หรือมีไว้ในความครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน10 ปีหรือปรับไม่เกิน1,000,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 43,74 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
2. ผู้ใดผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกิน 700,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 45(1),75 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
3. ผู้ใดผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23,73 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
4. ผู้ใดผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 45(4),78 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
ส่วนความผิดตามพ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไข ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550 มีดังนี้
1. ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผลิตเพื่อการค้า ปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ตาม 30 (5) มาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท.-สำนักข่าวไทย