พัทลุง 26 เม.ย.- อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ทะเลน้อย จ.พัทลุง ทำให้น้ำที่ท่วมขังพื้นที่อาศัยและหากินของควายน้ำยังไม่ลดระดับลง ประกอบกับมี “จอกหูหนูยักษ์” ซึ่งเป็นวัชพืชต่างถิ่นระบาดพื้นที่ทะเลน้อย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำซึ่งเป็นอาหารของควาย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทะเลน้อยทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่อาศัยและหากินของควายน้ำซึ่งนานถึง 6 เดือนแล้วจะยังคงไม่ลดระดับลงประกอบกับมี “จอกหูหนูยักษ์” ซึ่งเป็นวัชพืชต่างถิ่นปริมาณมาก ปกคลุมผิวน้ำทำให้แสงไม่สามารถส่องลงถึงพื้นน้ำได้ ส่งผลโดยตรงกับการเจริญเติบโตของพืชอาหารกระบือทะเลน้อยตามธรรมชาติลดลง หาไม่เร่งแก้ปัญหาจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพควายจากภาวะขาดแคลนอาหารเป็นเวลานาน จึงต้องฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลน้อยให้มีพืชอาหารสมบูรณ์เช่นในอดีต
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์สนับสนุนหญ้าอาหาร ยา และเวชภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง แล้วยังร่วมกับฝ่ายต่างๆ กำหนดแผนการจัดการเลี้ยงควายทะเลน้อยทุกมิติแบบมีส่วนร่วมเช่น ขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงควายและโซนพื้นที่การเลี้ยงให้ถูกต้องตามกฎหมายของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จัดสร้างคอกพักชั่วคราว สร้างจุดอพยพควายในช่วงระดับน้ำสูง และปรับปรุงพันธุ์เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
จากการส่งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เข้ารักษาและฟื้นฟูสุขภาพควายทำให้มันควายเข้าถึงแหล่งอาหารได้มากขึ้น เจ้าของแยกควายอ่อนแอมาดูแลใกล้ชิดทำให้สุขภาพควายดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าดูแลควายที่ปล่อยเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสามารถแยกและดูแลควายที่อ่อนแอได้อย่างทันท่วงที
สำหรับ “ควายทะเลน้อย” เป็นควายปลักที่เลี้ยงมาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ 2- 3 ช่วงอายุคน การเลี้ยงเป็นแบบพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่ทะเลน้อยเป็นหลัก ปล่อยให้หากินอิสระ แทะเล็มหญ้าธรรมชาติในช่วงฤดูแล้ง เวลากลางคืนควายจะพักอาศัยอยู่ตามเนินดินที่แห้งในทุ่งหญ้า พอถึงช่วงน้ำหลากจะกลับมาคอกแห้งในพื้นที่สูงรวมกัน 3-5 ราย/คอก ไม่มีการจัดการคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ การผสมพันธุ์โดยควายเพศผู้ในฝูงแบบผสมธรรมชาติ ลูกควายที่เกิดมามีลักษณะเลือดชิด มีผลเสียทางพันธุกรรมทำให้เมื่อแรกเกิดจะไม่สมบูรณ์ สุขภาพอ่อนแอ มีอัตราการตายสูง โตช้าและแคระแกรน ซึ่งนับวันจะเป็นปัญหาสำคัญทีต้องเร่งแก้ไข เจ้าของควายไม่มีโปรแกรมดูแลสุขภาพที่สม่ำเสมอ
ที่ผ่านมาการให้บริการรักษาสุขภาพควายโดยเจ้าหน้าที่ทำได้ยากเนื่องจากไม่สามารถไล่ต้อนจับบังคับได้ทั้งหมด ประกอบกับเจ้าของควายมักขาดความพร้อม นอกจากนี้พฤติกรรมการจัดการเลี้ยงขาดความร่วมมือและไม่สามัคคีกัน เจ้าของควายแบ่งโซนพื้นที่กันในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ปล่อยให้ควายหากินอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่จับจอง แต่ละฝูงไม่ใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยการร่วมมือการจัดการเลี้ยง ดูแลสุขภาพ และผสมพันธุ์ควายจะช่วยกันเฉพาะที่เลี้ยงร่วมคอกกันเท่านั้น อีกทั้งแต่ละรายมีข้อมูลจำนวนควายไม่ชัดเจน
ส่วนพื้นที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยครอบคลุมอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชรวม 285,625 ไร่ หรือประมาณ 457 ตารางกิโลเมตร หรือส่วนที่เป็นพื้นน้ำ 17,500 ไร่ หรือประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร โดยมีคลองนางเรียมเชื่อมระหว่างทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบ ประกอบด้วยนาข้าว ป่าพรุ ป่าหญ้า และป่าดิบชื้นคิดเป็น 94 %ของทั้งหมด ส่วนที่เป็นพื้นน้ำมีเพียง 6 % เท่านั้น บึงน้ำทะเลน้อยมีสัณฐานค่อนข้างกลม กว้าง 6 กิโลเมตรและลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2518
จากการตรวจสอบพบว่า การเลี้ยงควายในพื้นที่ทะเลน้อยมี 11 กลุ่ม 106 คอก เกษตรกร 203 ราย เลี้ยงควายรวม 4,052 ตัว แยกดังนี้
– ตำบลพนางตุง ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มี 8 กลุ่ม เกษตรกร 135 ราย เลี้ยงควายรวม 2,212 ตัว
– ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เกษตรกร 65 ราย เลี้ยงควายรวม 1,591 ตัว
– ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกร 3 ราย เลี้ยงควายรวม 249 ตัว
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า ในอนาคตเตรียมพัฒนาความเข็มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อการพึ่งพาตนเองในอนาคต ผ่านความร่วมมือทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานของรัฐอย่างยั่งยืน เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนงบประมาณมอบให้กับกองทุนหรือองค์กรอนุรักษ์ควายทะเลน้อยและถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อจัดตั้งคลังเสบียงสัตว์ของกลุ่ม ตลอดจนการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ทะเลน้อยเพื่อให้มีแหล่งอาหารสำหรับควายอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย