กรุงเทพฯ 8 เม.ย.- กรมอุทยานฯ เชิญชวนประชาชนบริจาคเงินใน “โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ฯ” ช่วยเหลือสัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าบาดเจ็บพลัดหลง และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์ป่าในความดูแลของกรมอุทยานฯ กว่า 26,000 ตัว และคาดว่า จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกทุกปี จากมาตรการปราบปรามและจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าซึ่งส่งผลให้มีสัตว์ของกลางเพิ่มขึ้นด้วย
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีสัตว์ป่าในความดูแลทั้งสัตว์ป่าบาดเจ็บพลัดหลง พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์ป่า สัตว์ป่าที่ได้รับส่งคืนจากผู้ได้รับใบอนุญาตครอบครอง สัตว์ป่าจากการยกเลิกกิจการสวนสัตว์ และสัตว์ป่าของกลางรวมกว่า 26,000 ตัว โดยเฉพาะสัตว์ป่าของกลางซึ่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการปราบปรามและจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่า เมื่อมีคดีลักลอบค้าสัตว์ป่าเกิดขึ้น กรมอุทยานฯ มีหน้าที่รับสัตว์ป่าของกลางไว้ดูแล จนกว่าคดีจะสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว บางตัวสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายจนสามารถปล่อยคืนถิ่นที่อยู่ในป่าได้ แต่บางตัวด้วยสภาพร่างกายและเงื่อนไขต่างๆทำให้กรมอุทยานฯ ต้องดูแลสัตว์ป่าเหล่านี้ไว้จนกว่าจะสิ้นอายุขัย
ทั้งนี้กรมอุทยานฯ จัด “โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่า” ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าเพื่อให้บุคคลภายนอกมีส่วนร่วมสนับสนุนการให้บริการหรือสงเคราะห์สัตว์ป่าให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมคุ้มครองทรัพยากรสัตว์ป่าของชาติให้คงอยู่ และปลูกฝังให้ประชาชนมีเมตตาต่อสัตว์ป่า จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน องค์กร มูลนิธิ บริษัท กลุ่มบุคคล หรือบุคคลทั่วไป ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ด้วยการโอนเงินบริจาคเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เลขที่บัญชี 980-216-5379 ชื่อบัญชีโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อนำมาเป็นค่าอาหาร ค่าปรับปรุงซ่อมแซมกรงเลี้ยงหรือปรับภูมิทัศน์กรงเลี้ยงซึ่งการรับบริจาคดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาการรับบริจาคถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
สถิติการจับกุมคดีลักลอบค้าสัตว์ป่าเพียง 2 เดือนแรกของปี 2565 จับกุมได้ 10 คดี โดยสัตว์ของกลางส่วนใหญ่เป็นนก ลิงแสม ดังนี้
• 6 ม.ค. ยึดนกกะรางคอดำ 5 ตัว
• 11 ม.ค. ยึดนกอีลุ้ม 12 ตัว นกอีล้ำ 5 ตัว นกกวัก 2 ตัว และนกเขาไฟ 1 ตัว
• 14 ม.ค. ยึดนกปรอดหัวโขน 32 ตัว นกปรอดคอลาย 7 ตัว นกปรอดตาแดง 7 ตัว นกปรอดศรีไพรตาแดง 2 ตัว นกกางเขนดง 3 ตัว นกเขียวก้านตองใหญ่ 1 ตัว นกเขียวก้านตองเล็ก 1 ตัว นกหกเล็ก 1 ตัว นกปรอดทอง 1 ตัว
• 19 ม.ค. ยึดนกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก 11 ตัว
• 5 ก.พ. ยึดลิงแสม 21 ตัวและเหี้ย 39 ตัวซึ่งถูกขังในโรงเรือนพื้นที่ จ.พิจิตร
• 10 ก.พ. ยึดนกกระรางหัวขวาน 9 ตัว เหยี่ยวขาว 1 ตัว นกแสก 2 ตัว นกเค้าจุด 4 ตัวในกรุงเทพฯ
• 14 ก.พ. ยึดนกกางเขนดง 2 ตัวในเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
• 15 ก.พ. ยึดลูกแมวดาว 3 ตัวในอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
• 17 ก.พ. ยึดลิงแสม 30 ตัวซึ่งถูกขังในบ้านร้าง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
• 18 ก.พ. ยึดลูกลิงกัง 1 ตัวในกรุงเทพฯ
สำหรับสถานที่เลี้ยงสัตว์ป่าในโครงการมีทั้งสิ้น 26 แห่งได้แก่ 1. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว 2. สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี 3. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางพระ จังหวัดชลบุรี 4. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี 5. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี 6. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรี 7. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี 8. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา 9. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง จังหวัดสงขลา 10. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง จังหวัดพัทลุง 11. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาส 12. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 13. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด.-สำนักข่าวไทย