นนทบุรี 29 มี.ค.-อธิบดีกรมการค้าภายใน ไฟเขียวผู้ค้าปุ๋ยยื่นขอปรับราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ป้องกันปุ๋ยขาดตลาด หลังประชุม 3 สมาคมปุ๋ย รับฟังผลกระทบต้นทุนแพงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอีกหลายปัจจัย ย้ำเพื่อเร่งหาแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ 3 สมาคมผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมี ประกอบด้วย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เพื่อประเมินปริมาณปุ๋ยเคมี และหาแนวทางเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเอกชนยืนยันว่ามีเพียงพอต่อการผลิตใน 2-3 เดือนนี้ และจะมีการสั่งนำเข้าเพิ่มเติมเป็นระยะ ตั้งแต่ปุ๋ยสูตรหลัก เช่น ยูเรียโปรแตส และฟอสเฟส เพื่อเตรียมไว้ให้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตระบุว่า การนำเข้าปุ๋ยขณะนี้มีอุปสรรคจากสงครามยูเครนและรัสเซีย ทำให้ต้องหาปุ๋ยจากแหล่งใหม่ทดแทน ขณะเดียวกัน ต้นทุนในด้านต่างๆ ก็สูงขึ้นด้วย เพราะหลายประเทศมีการสำรองปุ๋ยไว้ในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
นอกจากนี้ ประเทศอินเดียก็เตรียมเปิดประมูลซื้อปุ๋ย ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาปุ๋ยสูงขึ้นในตลาดโลก ดังนั้น กรมการค้าภายในจะพิจารณาการปรับราคาปุ๋ย เพื่อให้สะท้อนต้นทุน และป้องกันปุ๋ยขาดแคลน ซึ่งเอกชนสามารถยื่นขอปรับราคามาได้ โดยกรมการค้าภายในจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ เกษตรกรไม่แบกรับภาระเกินไป ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อประชาชน และหากพบว่ามีผู้แทนจำหน่ายรายใดฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาปุ๋ยก่อนที่กรมการค้าภายในอนุมัติ สมาคมฯ จะตัดจากการเป็นผู้แทนจำหน่ายทันที
นายเทพวิทย์ เตียวสุรัตน์กุล อุปนายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยราคาปุ๋ยยูเรียจากตะวันออกกลาง ราคาเอฟโอบีไม่รวมค่าเรือ อยู่ที่ตันละ 960-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปุ๋ย 18-46-0 ที่นำมาผลิตวัตถุดิบแม่ปุ๋ย NPK ตันละ 1,100-1,200 ดอลลาร์สหรัฐ และสูตร 0-0-60 โปแตส อยู่ที่ตันละ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การอนุญาตให้ปรับราคาตามต้นทุน ทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการนำเข้าปุ๋ยมากขึ้น และเชื่อว่าปุ๋ยจะไม่ขาดตลาด ดังนั้น ประเมินว่า ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก 4 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคมนี้ ความต้องการใช้ปุ๋ยจะอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน.-สำนักข่าวไทย