กรุงเทพฯ 7 มี.ค. – อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเตือนโรงน้ำแข็งและห้องเย็นให้ป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในช่วงฤดูร้อนที่มีการผลิตสูง อาจเป็นอันตรายทั้งต่อระบบทางเดินหายใจของคนในชุมชนและเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 เกิดเหตุการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียจากโรงงานผลิตน้ำแข็งและห้องเย็นแล้ว 3 ครั้งคือ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 6 มกราคมและวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยขณะนี้เข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งความต้องการบริโภคน้ำแข็งมากกว่าช่วงเวลาอื่น ตามสถิติของกรมควบคุมมลพิษจะมีเหตุการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียจากโรงงานผลิตน้ำแข็งและห้องเย็นถี่ขึ้น จึงแจ้งเตือนผู้ประกอบการว่า หากเร่งกำลังการผลิตมากขึ้น จะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก เพิ่มความเสี่ยงในการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียหรืออาจเกิดจากความบกพร่องของอุปกรณ์
ทั้งนี้ก๊าซแอมโมเนียจะมีความเป็นพิษต่อระบบการหายใจของประชาชนที่ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณที่มีการรั่วไหลและในชุมชนใกล้เคียง โดยโรงงานน้ำแข็งส่วนใหญ่เป็นกิจการเก่าแก่และมักตั้งอยู่ในชุมชน รวมทั้งหากมีน้ำเสียจากการดับเพลิงหรือการดักจับก๊าซแอมโมเนียถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ สามารถทำให้ปลาและสัตว์น้ำตายได้ เนื่องจากแอมโมเนียมีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำและทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง
สำหรับการรั่วไหลของแอมโมเนีย ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักจากความบกพร่อง ความชำรุดของอุปกรณ์ เช่น รอยรั่วของท่อขนส่ง ข้อต่อ วาล์ว หรือเกิดระหว่างการบำรุงรักษาระบบ เนื่องจากแอมโมเนียสามารถรวมตัวกับน้ำและความชื้นภายในโรงงานเกิดเป็นแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ ที่มีความเป็นด่างสูง สามารถกัดกร่อนระบบท่อส่งก๊าซและวาล์วทำให้เกิดรอยรั่วได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดได้จากการจัดเก็บภาชนะบรรจุแอมโมเนียที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีการจัดพื้นที่สำหรับการเก็บสารเคมีโดยเฉพาะ ไม่มีการติดป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตราย เป็นต้น
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 – 16 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำแข็งและห้องเย็นให้ตรวจสอบระบบ วัสดุอุปกรณ์ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจการในช่วงฤดูร้อน
ล่าสุด คพ. ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ERG4Thai หรือแอพพลิเคชั่นคู่มือการระงับอุบัติภัยเบื้องต้นจากวัตถุอันตราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการกู้ภัยเช่น ความเป็นอันตรายจากการรับสัมผัสทางการหายใจ ผิวหนังและดวงตา การดำเนินการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้แก่ เพลิงไหม้ การรั่วไหล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนวทางการพิจารณาอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เกิดเหตุ สามารถดาวน์โหลดได้ในระบบปฏิบัติการ Android iOS และเว็บไซต์ที่ www.erg4Thai รวมทั้งติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1650 ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย