กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – สรท.คาดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำต้นทุนวัตถุดิบ-พลังานปรับตัวสูง คาด ตัวเลขส่งออก ไตรมาสแรก ยังโตได้ร้อยละ7-8 แต่หากยืดเยื้อ ไตรมาส2 จะกระทบ 4-5 พันล้านเหรีญ แนะรัฐรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท อนุญาตให้ขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุน – ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามเงินเฟ้อ
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. โดย สรท. ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป คาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน
สรท.ประเมินว่าหากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายหรือขยายวงกว้างไปมากกว่านี้และสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ภายในสามเดือน การส่งออกของไทย ปี 2565 คาดว่าจะยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 5 โดยคาดว่าสถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 7-8 เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานกาณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ)
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.38 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไปยูเครนในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลต่อหลายปัจจัยที่สำคัญทั้งภูมิรัฐศาสาตร์ เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม หากสถานการณ์การสู้รบยืดเยื้อบานปลาย อาทิ ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (ราว 11% ของการผลิตน้ำมันทั่วโลก) สรท. คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 100-105 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปัญหาราคาวัตถุดิบขาดแคลนและผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, สินค้าธัญพืช เป็นต้น ค่าเงินบาทมีความผันผวนไปในทิศทางแข็งค่า New low ในรอบ 5-7 เดือน จาก Fund flow นักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดทุนและตลาดพันธบัตรของไทยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจากการผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความผันผวน จากที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบจากที่กำหนดไว้ว่าจะปรับขึ้น 0.50 ในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ประกอบกับแรงหนุนจากราคาทองคำที่เริ่มกลับมาเป็นสิทรัพย์ปลอดภัยจากนักลงทุน ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระยะสั้น แรงงานภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 “โอมิครอน” ในหลายประเทศเริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกระลอกรวมถึงประเทศไทย (New high) ถึงแม้ว่าจะการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 ต่อเนื่อง ขณะที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศรวมถึงไทย ถึงแม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 อย่างใกล้ชิด 5) ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา ค่าระวงาเรือทรงตัวในระดับสูง Space allocation ไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถจองระวาง
สำหรับ ข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
1)เพื่อเตรียมรับมือต่อความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกที่อาจเกิดจากกรณีพิพาท สรท. ขอให้รักษาเสถรียภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
1.1) กรณีการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการส่งออกควรต้องขอให้ชำระเงินก่อนส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงระดับหนึ่ง
2) เพื่อรับมือต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุน สรท. ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น.
3)เร่งมองหาช่องทางเปิดตลาดเพิ่มเติมทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท หากการสู้รบขยายเป็นวงกล้างและมีความยืดเยื้อมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
4)ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง.-สำนักข่าวไทย