กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกฯ ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตร้อยละ 4 และประมาณการณ์ปี 2568 เติบโตร้อยละ 1-3 ชี้ภาวะผันผวนหนักหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” รับตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงว่า ปี 68 คาดว่าการส่งออกจะผันผัวนอย่างหนัก หลังจาก “ทรัมป์” รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่มีการประกาศล่วงหน้าในการขึ้นภาษีนำเข้า และจะกลายเป็นสงครามการค้า โดยเฉพาะกับจีน มีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจทั่วโลก และจะมีผลต่อเงินเฟ้อของสหรัฐ แม้ว่าจะมีการสนับสนุนการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นก็ตาม ก็ต้องจับตาดูว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีท่าทีอย่างไร ในขณะเดียวกันมสหภาพยุโรปจะเพิ่มมาตรการกีดกันทางค้า โดยใช้ข้ออ้างสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ยังมีต่อเนื่อง แต่จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เรือขนส่งสินค้ามีมากขึ้น จึงคาดว่าค่าระวางเรือจะทรงตัว ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดทรงตัวที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนเงินบาทคาดว่าผันผวน นอกจากตามปัจจัยนโยบายสหรัฐแล้ว ยังมาจากเรื่งหนี้สาธารณะของประเทศที่อยู่ราว 70% รัฐบาลมีทิศทางจะกู้เงินเพิ่มเติมกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับทิศทางเงินทุนไหลออก จึงคาดว่าเงินบาทปีหน้าจะอ่อนค่าอยู่ที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์ฯ ในขณะที่ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนธันวาคมนี้คงไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย โดยคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 68
“สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 67 เติบโตร้อยละ 4 ยอดส่งออกราว 2.97 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือ 10 ล้านล้านบาท และประมาณการณ์ปี 68 เติบโตร้อยละ 1-3 โดยพระเอกช่วยการส่งออกปลายปีนี้คืออิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่กลุ่มยานยนต์ส่งออกหดตัว อย่างไรก็ตาม จากที่การส่งออกปีนี้ดีกว่าคาดการณ์เดิมมาก จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีการจัดสรรงบส่งเสริมการส่งออกทั้งขยายตลาดใหม่รักษาฐานตลาดเดิม เพื่อช่วยผู้ประกอบการสู้กับความผันผวนในปีหน้า โดยผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวทุกด้านเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” นายชัยชาญ ระบุ
สรท.สรุปปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 1.1) ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและนโยบายอื่นของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้า 1.2) สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และ รัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ 2) Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ แม้จะมีอุปสงค์ระยะสั้นในการนำเข้าในช่วงเทศกาลสำคัญ และวัฎจักรขาขึ้นของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3) ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากความไม่แน่นอนของทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จากปัจจัยเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4) สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลปรับลดลงในเส้นทางสำคัญ แต่ยังมีความผันผวนจาก 4.1) การปรับขึ้นค่าใช้จ่าย อาทิ ค่า GRI (General Rate Increase) 4.2) การเจรจาปรับขึ้นค่าแรงในฝั่งตะวันออกของสหรัฐที่ยังไม่ยุติ และ 5) มาตรการทางการค้าที่เฝ้าระวัง อาทิ 5.1) การกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย 5.2) สหภาพยุโรปเลื่อนการบังคับใช้ EUDR ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) เร่งลดต้นทุนการทำธุรกิจให้กับผู้ส่งออก อาทิ 1.1) ต้นทุนการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และ 1.2) ต้นทุนการประกันความเสี่ยงการชำระเงินค่าสินค้า 2) เพิ่มงบประมาณและจำนวนความถี่ในการจัดส่งเสริมกิจกรรมการค้าทั้งในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและตลาดลำดับรอง และ 3) เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีในกรอบที่มีอยู่เดิม และเพิ่มการเจรจาในตลาดศักยภาพใหม่. -511-สำนักข่าวไทย