กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – หลังรัสเซียประกาศสงครามกับยูเครน ทำให้ทั่วโลกเกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์ โดยเฉพาะนักลงทุนทั่วโลกต่างชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดช่วงเช้าดิ่งลง 27.01 จุด น้ำมันและทองคำราคาพุ่งและผันผวนหนัก
ราคาน้ำมันซื้อขายในตลาดโลกวันนี้ (24 ก.พ.) ณ เวลา 16.00 น. ราคาน้ำมันดิบ ชนิดเบรนท์ปรับขึ้นอีก 6.68 ดอลลาร์ ทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 103 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี นับจากเดือนกันยายน ปี 2014 หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ที่หลายฝ่ายหวั่นว่าจะเป็นการทำสงครามบุกยูเครนเต็มรูปแบบส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอินเทอร์มีเดียต (ดับเบิลยูทีไอ) ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 95.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ถึงความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่วนตัวมองว่าความขัดแย้งจบลงด้วยดี เพราะในช่วงเผชิญกับปัญหาโควิด-19 คงไม่อยากขัดแย้งยาวนาน และปริมาณน้ำมันจากกลุ่มอิหร่าน เริ่มเจรจากับสหรัฐ หากหาข้อสรุปร่วมกันได้จะมีปริมาณกำลังการผลิตเพิ่ม น้ำมันดิบอาจอยู่ที่ราคา 90-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้สหรัฐ ยุโรป ยังเร่งเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน กระทรวงการคลังติดตามสถานการน้ำมันอย่างใกล้ชิด และยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยเหลือ 3 บาทต่อลิตร แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้มาตรการใดเข้ามาดูแลปัญหาราคาน้ำมันผันผวนในช่วงนี้เพิ่มเติม
ด้านนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. ยอมรับว่า หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ราคา 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบ ทำให้กลไกดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30บาทต่อลิตร บริหารงานได้ยาก เพราะทุกราคาน้ำมัน 1 ดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเกินต้นทุน 30 บาท ส่วนกองทุนน้ำมันคงไม่สามารถอุดหนุนได้เพิ่มแล้ว เนื่องจากขณะนี้เงินกองทุนติดลบอกว่า 20,000 ล้านบาท
ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุแม้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและ LNG เนื่องจากมันดิบส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 55 นำเข้าจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ส่วนการนำเข้าจากรัสเซีย เพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 แต่กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อม โดยมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้นานกว่า 2 เดือน แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 27 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 13 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 12 วัน ส่วน LPG สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 16 วัน
สถานการณ์ตึงเครียดดังกล่าวยังส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียที่เปิดทำการซื้อขายในวันเดียวกันนี้ร่วงลงถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีหั่งเส็ง ร่วงลงไป 1.6% ที่ 23,2929.10 จุด, ดัชนีนิกเกอิ 225 ของตลาดหุ้นโตเกียว ปรับลดลง 1.1 ที่ 26,161.46 จุด และดัชนีคอมโพซิต ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ร่วง 0.2% ที่ 3,483.22 จุด
ขณะที่ดัชนีดาวน์โจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดการซื้อขาย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร่วงลงไป 1.4% ที่ 33,131.76 จุด และตลาดหุ้นออสเตรเลีย ร่วงกว่า 3% ส่วนไทยก็ไม่น้อยหน้า ปรับตัวลงแรง ดัชนี SET อ่อนตัวตามทิศทางตลาดภูมิภาค ปิดตลาดช่วงเช้าร่วงลงไป 27.01 จุด หรือลบ 1.59% มูลค่าซื้อขายกว่า 7.48 หมื่นล้านบาท
ผจก.ตลท.ให้นักลงทุนติดตามวิเคราะห์ข้อมูลใกล้ชิด
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นปัจจัยที่นักลงทุนทุกคนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้ประกอบการลงทุน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่สูง และยังไม่มีแนวโน้มการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม แต่ผลกระทบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตลาดหุ้นไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนราคาทองคำวันนี้ (24 ก.พ.65) พบว่าราคาผันผวนอย่างหนัก สมาคมค้าทองคำ ปรับขึ้นราคาทองคำวันเดียวถึง 15 ครั้ง เฉพาะครึ่งวันเช้าปรับราคาขึ้นลงถึง 12 ครั้ง ในเวลาห่างกันบางครั้งไม่กี่นาที ครั้งที่ 1 เวลา 09.30 น. ราคาทองปรับขึ้น 350 บาท ครั้งที่ 2 เวลา 09.55 น. ปรับขึ้น 50 บาท ครั้งที่ 3 เวลา 10.07 น. ปรับขึ้น 50 บาท
ครั้งที่ 4 เวลา 10.24 น. ปรับขึ้น 50 บาท ครั้งที่ 5 เวลา 10.36 น. ปรับขึ้น 50 บาท
ครั้งที่ 6 เวลา 11.10 น. ปรับขึ้น 50 บาท ส่งผลให้ราคาทองรูปพรรณขายออกแตะบาทละ 30,000 บาท
ครั้งที่ 7 เวลา 11.14 น. ปรับขึ้น 100 บาท เพียง 4 นาทีหลังจากนั้น ราคาปรับขึ้นครั้งที่ 8 อีก 100 บาท ครั้งที่ 9 เวลา 11.36 น. ราคาปรับลดลง 50 บาท ครั้งที่ 10 เวลา 11.52 น. ปรับลง 50 บาท ครั้งที่ 11 เวลา 12.33 น. ปรับขึ้น 50 บาท 15 นาทีหลังจากนั้น ปรับขึ้นอีก 50 บาท ครั้งที่ 13 เมื่อเวลา 15.05 น. ปรับขึ้น 50 บาท
ครั้งที่ 14 เวลา 16.43 น. ปรับขึ้นอีก 50 บาท ครั้งที่ 15 เวลา 16.58 น. ปรับขึ้น 50 บาท ครั้งที่ 16 เวลา 17.12 น. ล่าสุดเมื่อเวลา 17.225 น. ขึ้นทีเดียวถึง 100 บาท โดยราคาทองแท่ง รับซื้อบาทละ 29,900 บาท ขายออกแตะ 30,000 บาท ทองรูปพรรณ รับซื้อ 29,364.92 บาท ขายออก 30,500 บาท
ส่วนทองคำและเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามเกิดวิกฤติ และเหตุความวุ่นวายขึ้นในโลก ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยราคาทองคำ XAU เพิ่มขึ้นกว่า 1.2% ที่ 1,930.86 ดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดนับจากเดือนมกราคม ปี 2021 เป็นต้นมา
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน กำลังมีผลต่อราคาวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือทำการส่งออกได้ตามปกติ โดยข้าวโพดในประเทศไทยมีราคาปรับไปถึง 11.10 บาทต่อกิโลกรัม และกำลังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีแนวโน้มราคาสูงตามไปด้วย ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ราคาขึ้นมาสูงกว่า 50-60% แล้ว ยังไม่นับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มด้วย แต่ราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ไม่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้รัฐดูแลราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วย.-สำนักข่าวไทย