กรุงเทพฯ 21 ก.พ.-สนพ.ร่วมมือรัฐ-เอกชนระดมสมอง ศึกษา แผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะ วางเป้าหมายในปี 2030 ไทยควรมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 567 แห่ง ด้านอีวีโลโมฯ ระดมเงินลงทุนเพิ่ม 210 ล้านดอลลาร์ เร่งขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าและเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตแบตฯลิเธียม 8 กิกะวัตต์ ในระยอง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าสนพ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดสัมมนาโครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศโดยเชิญกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมให้ ให้ความเห็นเช่น หน่วยงานภาครัฐ–เอกชน, หน่วยงานภาคขนส่งและผู้ให้บริการอัดประจุ EVและ. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เบื้องต้นพบว่าการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge ที่เหมาะสม สำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะในปี พ.ศ. 2573 (ค.ส.2030) ควรมีเพิ่มอีก 567 แห่ง (ปัจจุบันมีอยู่ 827 แห่ง รวมเป็น1,394 สถานี ) และมีเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้ารวม 13,251 เครื่อง โดยแบ่งเป็นสถานีอัดประจุสาธารณะในเขตพื้นที่หัวเมืองใหญ่จำนวน 505 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 8,227 เครื่อง และสถานีอัดประจุสาธารณะเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 62 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 5,024 เครื่อง
และเนื่องด้วยสถานีอัดประจุนั้นเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูง มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการคืนทุน ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่ดิน ค่าปรับปรุงพื้นที่ ค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุ ในขณะที่ค่าดำเนินการส่วนใหญ่แล้วนั้นจะเป็นค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ดังนั้น จึงมีการเสนอแนวทางการสนับสนุนในช่วง 2 ปีแรก คือ การอุดหนุนค่าเครื่องอัดประจุ และอาจจะมีการขยายระยะเวลาของการปรับใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Low Priority รวมทั้งมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับสร้างสถานีอัดประจุ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน พร้อมทั้งมีการกำหนดจำนวน/ขนาดพื้นที่จอดรถ เพื่อรองรับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี สนพ. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนต่อไป
ตำแหน่งที่ตั้ง สถานีอัดประจุสาธารณะ
(แห่ง) เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (เครื่อง)
เขตพื้นที่ในตัวเมือง (Cities) 505 8,227
– เขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ 20 3,670
– ภาคเหนือ 158 1,085
– ภาคใต้ 104 919
– ภาคกลาง 76 1,364
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 147 1,189
เขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) 62 5,024
รวมทั้งหมด 567 13,251
ด้าน บริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด แจ้งว่า ระดมเงินลงทุนเพิ่มล่าสุดมูลค่ารวม 210 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,700 ล้านบาท เสริมความแข็งแกร่งของแผนขยายเครือข่ายสถานีชาร์จเร็วให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี2565 โดยเม็ดเงินลงทุนก้อนล่าสุดจาก Deer Isle Group วาณิชธนกิจและที่ปรึกษาด้านฟินเทคจากสหรัฐฯ และยังได้มีการแต่งตั้ง นางสาวไดอาน่า เรเดิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัท Deer Isle Group ขึ้นเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัทของอีวีโลโม เทคโนโลยีส์
ปัจจุบัน อีวีโลโมกำลังดำเนินงานพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมขนาด 8 กิกะวัตต์ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทยในจ.ระยอง ด้วยเงินลงทุน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าให้ครอบคลุมครบทุกด้าน ตามนโยบายของประเทศไทย ที่กำหนดเป้าหมายให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1 ล้านคันภายในปี 2568 และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 15 ล้านคันภายในเวลา 10 ปีข้างหน้า
นางสาวไดอาน่า เรเดิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Deer Isle Group กล่าว ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้ จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งทางอีวีโลโม เทคโนโลยีส์ มีความได้เปรียบในการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงสถานีชาร์จไฟได้ง่ายขึ้น .–สำนักข่าวไทย