กรุงเทพฯ 17 ก.พ.- “พลเอกประวิตร” เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งทุกหน่วยงานเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำมันรั่วกลางทะเล จ.ระยอง
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบ VDO conference
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลจังหวัดระยองซึ่งพลเอกประวิตรสั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งประสานบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดระยองตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้การจ่ายค่าชดเชยเยียวยาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงให้ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
จากนั้น ได้มีการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีเทา ระยะที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนรอง อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว (2) โครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามา-ธนารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ ของกรมธนารักษ์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีที่พักอาศัยพร้อมอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต มีระบบการดูแลรักษาสุขภาพและสวัสดิการอื่น ๆ แบบครบวงจร (3) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ตาก 2 – แม่สอด ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ (4) โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ของกองทัพเรือ และสำนักงาน EEC เพื่อสนับสนุนการพัฒนา EEC รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของสนามบินและความมั่นคง
ทั้งนี้เจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป และยังได้พิจารณาเรื่องเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) กรอบท่าทีไทย และหลักการต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีและทางการเมือง ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2และการประชุมสมัยพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (2) การพิจารณากรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะ สมัยที่ 4 และร่างปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก และ (3) การกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานที่ฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560.-สำนักข่าวไทย