กรุงเทพฯ 19 ม.ค.- รมว.คมนาคม ประชุมติดตามผลการประเมินคุณภาพสถานีรถไฟสายสีแดง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางราง พร้อมสั่ง รฟท. ศึกษาแนวทางเพิ่มผู้โดยสาร สร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้บริการ จากการพัฒนาระบบเดินทางเชื่อมต่อ (feeder)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามผลการประเมินคุณภาพสถานีรถไฟสายสีแดง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางราง และการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ร่วมประชุม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ และรูปแบบการเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน และมีรองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านวิชาการ ร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางราง ตลอดจนระบบการเดินทางเชื่อมต่อ และประเมินระดับคุณภาพ รวมถึงดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง ให้สามารถรองรับการใช้บริการของประชาชนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเท่าเทียม และประเมินรูปแบบการเดินรถไฟทุกขบวนที่เข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์ และเชิงสังคม ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการประเมินคุณภาพสถานี 8 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเชื่อมต่อการเดินทาง ด้านการให้ข้อมูลข่าวสาร ด้านความปลอดภัย ด้านความสะดวกสบาย ด้านการออกแบบเพื่อรองรับสำหรับทุกคน ด้านการให้บริการ และด้านความสวยงาม
โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการลงตรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 โดยได้มีข้อเสนอให้ดำเนินการปรับปรุง เช่น ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับคนทุกกลุ่ม ปรับปรุงระบบป้ายบอกทางและสัญลักษณ์ระบบรถไฟภายในสถานี ปรับให้มีการบอกระยะเวลาขบวนรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เที่ยวต่อไปที่จะเข้าสถานีบนจอ LED เป็นต้น
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการแก้ปัญหาการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง กับท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งได้ดำเนินการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ ตามที่ได้ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น
1) ป้ายบอกทางบนสถานีไม่ชัดเจน ซึ่งได้เพิ่มสัญลักษณ์เครื่องบินในป้ายบอกทางเพื่อให้เกิดความชัดเจน พร้อมทั้งเพิ่มสัญลักษณ์ผู้พิการ เพื่อแจ้งผู้โดยสารให้ทราบถึงสิ่งอำนวยความสะดวก
2) ขาดทางลาดสำหรับผู้โดยสาร โดยจะมีการทำทางลาดชั่วคราวบน Sky Walk และมีแผนจะทำ Sky Walk ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
3) จุดจอด Drop Off และจอดรถของสถานี ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ได้ร่วมกันจัดระเบียบจุดจอด รวมถึงประสานตำรวจ เพื่อร่วมกันจัดระเบียบการจราจรด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ผลิตและเผยแพร่คลิปวิดีโอ “เติมเต็มทุกเส้นทางความสุข…ทุกการเดินทาง” รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในวันเด็กแห่งชาติออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยประชาชนผู้ใช้บริการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการให้บริการ หรือร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ รฟท. และสายด่วน 1690
ปัจจุบันได้มีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เช่น ปัญหาหาบเร่แผงลอยบริเวณรอบสถานี เสนอแนะให้ปรับปรุงความสะดวกทางเข้าสถานี ป้ายบอกทาง โดยเฉพาะสถานีชานเมือง ควรจัดเก้าอี้ให้นั่งพักระหว่างรอขบวนรถ การเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่สถานีรถไฟสายสีแดง เป็นต้น โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จะได้นำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุดต่อไป
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟฟท. รวบรวมข้อมูลการเปิดให้บริการในช่วงที่ผ่านมา มาวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น การปรับขบวนรถและความถี่ในการเดินรถ เป็นต้น เพื่อให้การจัดการด้านค่าใช้จ่ายการเดินรถให้มีความคุ้มค่า อีกทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเชิงรุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยพิจารณาถึงการรับประกันความชำรุดบกพร่องในงานก่อสร้างของผู้รับจ้างที่จะต้องดำเนินการซ่อมแซมในระยะเวลาการรับประกัน เช่น ปรับปรุงพื้นที่ถนน เส้นทางเข้าสถานี ให้มีความพร้อมสำหรับการใช้งาน เป็นต้น
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ รฟท. พิจารณาแนวทางในการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร เช่น การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงให้มากขึ้น โดยการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ (Feeder) ให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และราคาเหมาะสม รวมถึงการสำรวจข้อมูลการเดินทางของประชาชนที่มาใช้บริการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เพื่อนำไปวิเคราะห์และออกแบบการบริการที่ตอบสนองกับการใช้บริการ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงการใช้บัตรโดยสาร EMV ร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ รวมถึงการบริหารจัดการเวลาเดินรถให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ ในการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารนั้น ให้ รฟท. พิจารณาเพิ่มเติมในด้านการใช้พื้นที่สถานีกลางบางซื่อในการจัดงานนิทรรศการต่างๆ รวมถึงการทำโปรโมชั่นร่วมกับผู้จัดงาน เช่น การให้ส่วนลดในการซื้อสินค้ากับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย