กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – สสน. ระบุ ต้นปี 2565 เป็น “ลานีญา” แต่ปลายปีอาจพลิกเป็น “เอลนีโญ” จึงคาดการณ์ว่า ครึ่งแรกของปี ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย แล้วกลายเป็นน้อยกว่าค่าปกติในครึ่งปีหลัง
นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกล่าวว่า ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำเป็น “คลังข้อมูลน้้าแห่งชาติ” เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยพบว่า ขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางมีสภาวะเป็น “ลานีญา” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 และรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคใต้ที่รับลมที่มาจากมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดน้ำท่วมติดๆ กันถึง 3 ครั้งซ้อนในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมรา ซึ่งคาดว่า ในเดือนมกราคมนี้ ยังมีแนวโน้มฝนตกมากกว่าค่าปกติภาคใต้และเสี่ยงเกิดน้ำท่วมอีกได้
ทั้งนี้ปี 2565 อาจเป็นปีที่มีฝนแปรปรวนเพราะสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีแนวโน้มพลิกจากเย็นไปร้อน จากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ซึ่งทั้ง 3 มหาสมุทรส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย ล่าสุดคาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝนปีนี้จะคล้ายคลึงกับปี 2552 โดยจะมีฝนตกเร็วจากพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ต่อเนื่องถึงต่อเนื่องเดือนพฤษภาคมที่เข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมจึงส่งผลให้ภัยแล้งของปี 2565 ไม่รุนแรงมากนัก ลักษณะเดียวกับปี 2564 ที่มีฝนตกมากกว่าปกติในช่วงเดือนเมษายน
ทั้งนี้จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนเนื่องจากสภาวะ “ลานีญา” จะกลับมาเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม แล้วกลับมาตกเพิ่มขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าปกติจนถึงสิ้นปีเพราะพลิกกลับไปเป็นสภาวะ “เอลนีโญ” จึงน่าเป็นห่วงมากเนื่องจากปกติแล้ว เดือนสิงหาคม-กันยายนเป็นระยะที่ฝนจะตกต่อเนื่องทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนเพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2566
นอกจากนี้ ในฤดูแล้งปี 2564/2565 เขื่อนหลักของภาคเหนือตอนบนและภาค ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีน้ำต้นทุนน้อย โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การเพียง 4,268 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 32% และเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้การเพียง 1,546 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 16% แต่หากฝนตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่องอีกจะกระทบกับน้ำาต้นทุนที่จะใช้ในปีต่อไป ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียดรอบคอบ บริหารน้ำต้นทุนและจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่
นายสุทัศน์กล่าวต่อว่า ในเดือนมกราคมนี้ ต่อกุมภาพันธ์ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มรุกในแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากในขณะนี้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.08 ล้านไร่แล้ว มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 1.3 ล้านไร่ซึ่งจะดึงน้ำออกจากแม่น้ าเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนจะทำให้ความเค็มรุกในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ แล้วจะคลี่คลายในเดือนมีนาคม-เมษายนเนื่องจากจะมีฝนตกลงมา.-สำนักข่าวไทย