กรุงเทพฯ 28 ก.ย.-ผู้อำนวยการ สสน. ย้ำพายุ “โนรู” มีอิทธิพลให้ฝนตกทั่วประเทศ แต่จะตกหนักในแนวพายุเคลื่อนผ่านและแนวปะทะของลม จึงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดและเตรียมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อให้ปลอดภัยจากทั้งอุทกภัยและวาตภัย
ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือสสน. กล่าวว่า ขณะนี้พายุไต้ฝุ่น“โนรู” ซึ่งขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามเวลา 04.00 น. และได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศเวียดนามมายังประเทศลาวเมื่อเวลา10.00 น. โดยได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว ยังคงมีทิศทางเคลื่อนที่ทางทิศตะวันตก คาดว่า จะเข้าสู่ประเทศไทยคืนนี้ โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงต่อไป
ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นแนวฝนด้านหน้าของพายุ ตรงกับที่ได้คาดการณ์ไว้ว่า ส่วนใหญ่แนวฝนจะอยู่ด้านหน้าและด้านล่างของพายุ โดยวัดปริมาณฝนได้มากกว่า 90 มิลลิเมตร นอกจากนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นแนวที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ถูกเหนี่ยวนำให้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักด้วย โดยเฉพาะที่จังหวัดสตูล วัดปริมาณฝนได้มากถึง 107 มิลลิเมตร
ปัจจุบันร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย แล้วเสริมด้วยพายุ จึงจะทำให้ฝนตกทุกพื้นที่ โดยแนวพายุเคลื่อนผ่านจะมีฝนตกหนัก ดังนี้
– วันที่ 28-29 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง
– วันที่ 29-30 ก.ย. เขาใหญ่ ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคเหนือ
– วันที่ 30 ก.ย. -1 ต.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง
ดร. สุทัศน์กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำที่มีน้ำต้นทุนมากอยู่แล้ว ดินชุ่มน้ำมาก จากฝนที่ตกด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ น้ำในลำน้ำต่างๆ มีปริมาณมาก ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางหลายแห่งมีปริมาณน้ำมากเช่นกัน ช่วงที่พายุเข้ามา อาจทำให้มีน้ำไหลเข้าเพิ่มอีก แล้วต้องระบายออกตามมาตรฐานความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะมาเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำ ทำให้ล้นตลิ่ง หลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำ 3 ส่วนคือ ปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำ ปริมาณน้ำท่าที่เพิ่มจากฝน และปริมาณน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำ
ดังนั้น แนวทางบริหารจัดการน้ำระยะนี้ ต้องคำนึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ เนื่องจากอาจเกิดทั้งอุทกภัยและวาตภัย จึงต้องมีแผนอพยพประชาชนในระยะสั้นๆ ช่วงที่พายุเคลื่อนผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำชีและมูล แม่น้ำชีจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นปลายน้ำ ระดับน้ำที่ท่วมอยู่แล้วจะมีน้ำสูงขึ้นอีกกว่า 1 เมตร จึงควรอพยพประชาชนและย้ายศูนย์พักพิงไปยังที่สูงกว่าเดิม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีกำลังเร่งดำเนินการอยู่ เบื้องต้นอพยพไปแล้ว 2,000 ครอบครัว
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า เร่งกำหนดพื้นที่ที่จะใช้เป็นศูนย์พักพิง สำหรับอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมาพักอาศัยชั่วคราว จากที่คาดการณ์ว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลจะสูงขึ้นกว่าระดับตลิ่ง 2.53 เมตรในวันที่ 4 ต.ค. ดังนั้นที่ตั้งของศูนย์พักพิงต้องสูงกว่าระดับตลิ่ง 3 เมตรขึ้นไปเพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนจะปลอดภัยและไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย พร้อมย้ำให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ อย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย