กรุงเทพฯ 6 ม.ค.-ไฟลามทุ่ง บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทย มีมติเอกฉันท์ ยื่นอุทธรณ์บอร์ด คปภ. ขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ หวั่นกระทบฐานะบริษัทประกันภัย
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) คำสั่งนายทะเบียน การยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย และ 2) คำสั่งนายทะเบียน การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย รองรับการแพร่ระบาด COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย
เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัย เห็นว่า การออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ประกันภัย ที่จำหน่ายให้กับประชาชนไปแล้ว การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังถึงกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกก่อนคำสั่งฉบับดังกล่าว ถือว่าผิดหลักการที่เคยได้ปฏิบัติกันมา และถือว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย เพราะในวันที่บริษัทประกันภัย ยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน เบี้ยประกันภัยที่กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปอย่างมาก บริษัทประกันภัยอาจตัดสินใจไม่รับประกันภัยตั้งแต่ต้นหากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในกรมธรรม์
จึงเห็นว่าการออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลัง กระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยในระดับวิกฤต ทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 2 แห่ง ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพราะทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย ทำให้บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มทุนได้ เนื่องจากผู้ลงทุนไม่มีความมั่นใจว่าหากมีการเพิ่มทุนไปแล้วจะเพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดในอนาคต
การปิดกิจการ ของ 2 บริษัทประกันวินาศภัย ยังกระทบผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย ประเภทอื่น กว่า 4 ล้านรายต้องได้รับความเดือดร้อน และยังกระทบต่อคู่สัญญาอื่น ของบริษัท เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ สถาบันการเงิน พนักงานของบริษัท รวมถึงเป็นภาระต่อกองทุนประกันวินาศภัย ต้องมาชดใช้หนี้ให้กับผู้มีสิทธิตามสัญญาประกันภัยอีกด้วย เพราะหากขยายเงื่อนไขความคุ้มครองเพิ่มขึ้น บริษัทประกันภัย ต้องทบทวเบี้ยประกันภัยใหม่ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเดิม
ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอยืนยันหลักการเรื่องความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับความคุ้มครองแบบผู้ป่วยใน ต่อเมื่อเป็นผู้ป่วย ได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการแต่เข้ากักตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล การออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ จึงขัดต่อหลักกฎหมายและหลักการประกันภัยสากล.-สำนักข่าวไทย