นนทบุรี 30 ธ.ค.-2 หน่วยงานร่วมถกเร่งหาทางแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพง หลังจากราคาขยับต่อโล 180-200 บาท เตรียมขยายโครงการธงฟ้าหมูเนื้อแดงออกไปอีก ขณะที่กรมปศุสัตว์เดินหน้าเชิญชวนให้เลี้ยงหมูเพิ่ม หลังเจอพิษโควิดและโรคระบาด ปริมาณหมูเลี้ยงหายจากระบบปี 64 ถึง 1 ล้านตัว
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงอยู่ในขณะนี้ว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะพยายามเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้ราคาเนื้อหมูไม่แพงจนเกินไป โดยตอนนี้มีราคาตั้งแต่ 180-200 บาท/กิโลกรัม ยอมรับว่าราคาเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากปริมาณหมูเป็นในระบบน้อยกว่าความต้องการบริโภคในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และหมูติดโรค ทำให้ปริมาณการเลี้ยงสุกรในประเทศลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่ราคาเนื้อหมูขยับตัวสูงขึ้น โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายใน ขยายโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน (หมูเนื้อแดง) Lot 14 ที่ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ นำเนื้อหมูราคาถูก เฉลี่ยอยู่ที่ 130 บาท/กิโลกรัม ที่ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 เดือน ซึ่งจะหมดโครงการในวันที่ 31 ธ.ค.64 ให้ต่อไปอีก โดยกำลังหารือเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้า ว่าจะขยายโครงการนี้ไปถึงเมื่อไร รวมถึงราคาเนื้อหมูที่จะนำมาขายควรเป็นราคาเท่าไร
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ทางกรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดเล็กให้หันกลับมาเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ไป เพราะเห็นว่าขณะนี้ราคาของวงจรการเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้นและจูงใจที่ควรเลี้ยงสุกรในระบบให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งยอมรับปีนี้มีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงสุกร ทำให้ปริมาณสุกรในระบบน้อยลงจากปกติ หากไม่เกิดโรคระบาดหรือภัยธรรมชาติ ปริมาณสุกรจะอยู่ที่ 20 ล้านตัว แต่ปี 64 เหลือเพียง 19 ล้านตัว แบ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ 1 ล้านตัว หรือหายไปจากระบบ 1 ล้านตัว ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรที่กรมปศุสัตว์ดำเนินอยู่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้เลี้ยงสุกรหันมาเลี้ยงสุกรได้เพิ่มขึ้นในปีหน้า และที่สำคัญหากผู้ประกอบการหรือผู้เลี้ยงรายย่อยขาดเงินทุน สามารถขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ ดังนั้น คาดว่าในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ จะมีปริมาณสุกรเข้าในระบบเพิ่มขึ้น และคาดว่าปริมาณสุกรเลี้ยงในปี 65 จะมียอดรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัวได้แน่นอน.-สำนักข่าวไทย