กรุงเทพฯ 23 พ.ย.- ทีดีอาร์ไอติงการควบรวมกิจการระหว่างดีแทค-ทรู กระทบต่อผูบริโภค “เสียประโยชน์” พร้อมชี้ กสทช. มีอำนาจการออกกฎหมายลูกหรือประกาศมาดูแล ในขณะที่เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคม ระบุ ต่างชาติหลายประเทศมีผู้ประกอบการน้อยรายเช่นกัน และไม่เกิดปัญหาผูกขาด
กรณี การประกาศเตรียมแผน ควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC)นั้น มีกระแสความห่วงใยเรื่องการแข่งขันการบริหาร สร้างการผูกขาด ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากผู้ให้บริการลดลงในตลาดโทรคมนาคมนั้น มีความเห็นจากนักวิชาการ จาก สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ มองว่า นับเป็นการควบรวมที่เป็นกระทบต่อผู้บริโภค เพราะหากดูการคำนวนดัชนีการกระจุกตัว (HHI ) แล้วเพิ่มขึ้นในระดับอันตรายต่อผู้บริโภค เพิ่มจากก่อนควบรวม เป็นระดับ 5,012 หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,353 หน่วย ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็ต้องส่งสัญาณในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งแม้ว่ากฎหมายของ กขค.ใน ม.4 (4) จะระบุว่าไม่มีอำนาจดูแลเพราะธุรกิจนั้นมีกฎหมายเฉพาะกํากับพิจารณา เรื่องการแข่งขันทางการค้าแล้วก็ตาม ในขณะที่ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา21 ก็ระบุว่าให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ
ทั้งนี้ กสทช.สามารถออกกฏหมายลูก หรือ ประกาศ กสทช. มาป้องกันการผูกขาด ที่จะกระทบต่อผู้บริโภคได้ กรณี นี้ กสทช. ก็น่าจะออกกฎหมายลูกมาดูแลว่าในลักษณะที่ว่าหากเมื่อผู้ประกอบการรายใด เช่น ดีแทค อยากออกจากตลาดนี้ ก็ควรมีกฏหมายลูกกำหนดห้ามขายหุ้นให้กับรายเดิมที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว และกำหนดกฏระเบียบที่จะให้เกิดรายใหม่ที่สามารถเข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมทั้งควรพิจารณาเรื่องการเปิดเสรีโทรคมนาคม
“ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือการควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้รับผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการแต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขันและตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบคือผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาล จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลง รายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า เมื่อมองถึงตลาดโทรศัพท์มือถือ เมื่อมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น ตลาดโทรศัพท์มือถือจะกลับไปครั้งที่มีผู้ประกอบการเพียงสองราย ยังไม่มีทรูมูฟ คือย้อนไป 15 ปี หรือย้อนกลับไปที่ปี 2547 ถ้าตลาดย้อนกลับไปเหมือนในอดีต อาจเกิดการปรับตัวของราคาค่าบริการที่สูงขึ้น หรือการเกิดแพคเก็จที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค และยิ่งจะกระทบกับการทำธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือและลริการไร้สายในการทำธุรกิจ บริการโทรคมนาคมถ้าเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือแค่สองราย จะเกิดผลกระทบอย่างมากกับผู้บริโภค เพราะเป็นกิจการที่มีผู้ประกิจการน้อยราย
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวไทย มองว่า หากทรูกับดีแทค ควบรวมกิจการแล้ว ธุรกิจโทรคมนาคมในไทยก็ยังมีผู้ประกอบการ 3 ราย คือ เอไอเอส บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย และบริษัทใหม่ที่ดีแทคและทรู ควบรวมกิจการการ ซึ่งหากมองในต่างประเทศ กิจการนี้หลายประเทศมีผู้ประกอบการ 2-3 ราย และก็เกิดการแข่งขันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นหนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ทั้ง กสทช. และ กขค. ก็ควรเข้ามาดูถึงข้อกำหนดรายละเอียดทั้งหมด .-สำนักข่าวไทย