กรุงเทพฯ 22 พ.ย.- ก.คมนาคม ยืนยัน ประเด็นการจัดการเดินรถเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง จะมีจำนวนเหลือเท่าใด รวมถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในอนาคตนั้น พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย โดยเตรียมจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำข้อมูลใหม่ และรวมข้อมูลที่มีมาประกอบการพิจารณา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวก่อน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 7/2564 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยยืนยันว่า การพิจารณาหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอนาคตนั้น เนื่องจากขณะนี้การรถไฟฯ ได้มีการตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารที่ดินของการการรถไฟฯ ทุกแปลง หลังจากกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลของการรถไฟฯแล้ว พบว่ามีการขาดทุนสะสมต่อเนื่องประมาณ 1 แสน 5 หมื่น ถึง 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวเลขจากกระทรวงการคลัง จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 6 แสนล้าน จึงถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องแก้ไขปัญหา ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด
โดยล่าสุด บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ประเมินรายได้ จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณหัวลำโพงในอนาคต เมื่อประเมินตามแผนในระยะเวลา 30 ปี จะมีรายได้เข้ามารวมระยะเวลาบริหารจัดการประมาณ 800,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ของรถไฟในอนาคต เนื่องจากการรถไฟฯ มีที่ดินแปลงใหญ่ และมีศักยภาพสามารถนำมาพัฒนาและสร้างรายได้ จำนวนมาก เช่น สถานีกรุงธนบุรี, สถานีกลางบางซื่อ, ที่ดินบริเวณอาร์ซีเอ, สถานีแม่น้ำ และที่ดินบริเวณสถานีหัวลำโพง
สำหรับปัญหาเรื่องการเดินรถไฟฯ เข้ามาในกลางเมืองนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหานี้มานาน จึงได้พัฒนาโครงการสถานีกลางบางซื่อขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางระบบคมนาคม โดยเฉพาะระบบราง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดง, รถไฟทางไกล, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกทม. จากจุดตัดรถไฟกับถนนเมื่อก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้ว จึงเห็นควรมีการปรับการเดินรถ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร อย่างมีผลเป็นรูปธรรม
ส่วนข้อมูลจากสื่อต่างๆ ที่แสดงความกังวลเรื่องนี้ จะกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการสถานีหัวลำโพง ขณะนี้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง หรือ ฟีดเดอร์ เช่น รถเมล์ ขสมก.ที่จะเดินทางจากหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อ ในขณะเดียวกันได้ประสานงานกับภาคเอกชนที่มีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อเพิ่มทางเลือกเดินทางให้แก่ประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็พร้อมรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และประเมินว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และเรื่องใดที่จะต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีรถไฟ 118 ขบวนที่ให้บริการเข้าสู่สถานีหัวลำโพง ซึ่งข้อเสนอของการรถไฟฯ ที่จะสามารถ ปรับลดขบวนรถไฟเข้าหัวลำโพงได้ จำเป็นต้องเหลือ 22 ขบวนนั้น ก็ต้องมาพิจารณาว่ายังสามารถปรับลดลงได้อีกหรือไม่ หรือมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา
ภายหลังการประชุมนายศักดิ์สยามกล่าวว่า ประเด็นการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงนี้ ซึ่งยังมีประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง กระทรวงคมนาคมก็พร้อมรับฟังทุกความเห็น ดังนั้นได้สั่งให้ รฟท. ไปทบทวนข้อมูลแผนการเดินรถให้รอบด้านอีกครั้ง โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติการบริหารจราจร และมิติการให้บริการประชาชน โดยพิจารณาการปรับรูปแบบ และจำนวนรถไฟให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับให้ขบวนรถไฟวิ่งนอกชั่วโมงเร่งด่วน และได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีสาธารณะชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทำข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นนี้ เพื่อหาข้อยุติ และแก้ปัญหาให้ได้ทุกมิติ มาตรการเยียวยาต่าง ๆ รวมถึงการให้ข้อมูลด้านการพัฒนาหัวลำโพงให้เห็นภาพรวมทุกประเด็น ทั้งการอนุรักษ์อาคาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ นำมาประกอบกับการบริหารสถานีกลางบางซื่อ โดยให้พิจารณาข้อมูลการศึกษาต่างๆ เน้นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม.-สำนักข่าวไทย